"สำนักข่าวโอเอ็นบีนิวส์" ขอแสดงมุทิตาสักการะ แก่ "พระอธิการพบโชค" ได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น พระไพศาลประชาทร สย.วิ
27 ก.ค. 2562, 10:20
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสถาปนา เลื่อนและตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ จำนวน ๗๔ รูป โดยจะเข้ารับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง แบ่งเป็น สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ๔ รูป พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ๕ รูป พระราชาคณะชั้นธรรม ๖ รูป พระราชาคณะชั้นเทพ ๑๘ รูป พระราชาคณะชั้นราช ๑๘ รูป พระราชาคณะชั้นสามัญ ๒๓ รูป
ซึ่งพระอธิการพบโชค ติสฺสวํโส เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ นามว่า พระไพศาลประชาทร สย.วิ
สำหรับ พระอธิการพบโชค ติสฺสวํโส เดิมชื่อ พบโชค มาไพศาลกิจ เกิดวันเสาร์ที่ ๑๓ กรกฏาคม ๒๕๐๒ ตรงกับขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีกุน ที่บ้านตลาดสำรอง ต.พังตรุ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี โดยพระอาจารย์เป็นบุตรคนที่ ๔ ของคุณพ่อเซ่ติด และคุณแม่ลิ้มฟ้า มาไพศาลกิจ มีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน ๖ คน ได้แก่ ๑. นางเพียงใจ มาไพศาลกิจ ๒. น.ส.สวนีย์ มาไพศาลกิจ ๓. นางนงลักษณ์ มาไพศาลกิจ ๔. พระอาจารย์พบโชค มาไพศาลกิจ ๕. นางพัชรา มาไพศาลกิจ ๖.นายภานุวัฒน์ มาไพศาลกิจ
ตั้งแต่วัยเยาว์จนเติบใหญ่พระอธิการพบโชคเวียนว่ายอยู่ในทางโลก ได้รู้ได้เห็นในความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทั้งสุข ทุกข์ และการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จนทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายและเกิดศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนา จึงขออนุญาตบิดามารดากราบลาอุปสมบทเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เมื่ออายุ ๓๘ ปี ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๐ ณ พัทธสีมาวัดบางกระวนาราม จ.ราชบุรี โดยมี พระครูบรรพตพัฒนคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "ติสสะวังโส" แปลว่า ผู้อยู่ในตระกูลพระติสสะครั้นอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาแล้ว พระอาจารย์พบโชค ได้พำนักอยู่ที่วัดบางกระวนาราม จ.ราชบุรี เพื่อปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ ศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและเล่าเรียนสรรพวิชาต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นจนแตกฉาน เชี่ยวชาญพระกรรมฐานยิ่งนัก
ต่อมา พระอธิการพบโชค ได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ของท่านเดินทางจาริกแสวงบุญไปทุกแห่งหน จนกระทั่งมีโอกาสเดินทางไปที่ จ.เชียงราย เห็นว่า ภูมิประเทศเป็นป่าเขาและเงียบสงบเหมาะกับการบำเพ็ญเพียรภาวนาสั่งสมบารมีธรรม จึงตัดสินใจไปพำนักที่วัดร่องธาร ต.ท่าสาย อ.เมือง จ.เชียงราย นานถึง ๘ พรรษา
ภายหลัง พระอธิการพบโชค ทราบข่าวว่ามีวัดร้างเก่าแก่แห่งหนึ่ง (วัดห้วยปลากั้ง) ในพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงราย ด้วยความตั้งใจอันเป็นกุศลแรงกล้า ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ พระอธิการพบโชคจึงย้ายไปพำนักและบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้างให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เพื่อเป็นสถานที่ทำบุญของญาติโยม และสาธุชนทั้งหลาย โดยได้รับคำแนะนำจาก พระครูวิจิตรปัญญาภิวัฒน์ พ่ออุ้ยผัด ศรีกุณา โยมเหมียว และคณะผู้ศรัทธา ในเบื้องต้นได้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ห้วยปลากั้งและพัฒนากลายเป็น "วัดห้วยปลากั้ง"
ปัจจุบันวัดห้วยปลากั้ง เป็นวัดที่มีศรัทธา จากต่างจังหวัด ต่างประเทศ เข้ามากราบไหว้นมัสการ และปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก ถือเป็นจุดกำเนิดพุทธศาสนาในเชียงรายแห่งหนึ่งที่สำคัญ ทุกวันนี้ กำลังพัฒนาและเร่งปลูกสร้างถาวรวัตถุมากมาย ล้วนเกิดขึ้นจากบารมีและพลังศรัทธาใน พระอธิการพบโชค ติสสะวังโส เจ้าอาวาสรูปแรก ที่ตั้งใจบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้างแห่งนี้ให้กลับมาเจริญรุ่งเรือง เพื่อเป็นศูนย์รวมใจพุทธศาสนิกชนชาวเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง