สธ.เผยผู้ป่วยโควิด-19 อาการไม่รุนแรงกินฟ้าทะลายโจร มีอาการดีขึ้น เตรียมวิจัยระยะ 2
9 ธ.ค. 2563, 15:43
วันนี้ (9 ธ.ค. 2563) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการศึกษานำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูงต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลังจากการวิจัยในหลอดทดลอง พบมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยังยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรคโดยที่ยังไม่มีอาการ ขณะนี้ได้ขยายผลต่อยอดงานวิจัยในคน โดยร่วมโรงพยาบาลสมุทรปราการ ซึ่งดูแลผู้ป่วยจากนอกประเทศในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (State Quarantine)
ผลการศึกษาเบื้องต้นในผู้ป่วยที่รับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ป่วยทุกรายมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่สามของการได้รับสารสกัดดังกล่าว โดยหากแยกรายละเอียดอาการ จะพบว่า อาการไอ, เจ็บคอ, มีเสมหะ , มีน้ำมูก , ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ มีอาการดีขึ้น ผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียงค่าการทำงานของตับและไต อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนผลลัพท์ด้าน Pro-inflammatory cytokines และสารชีวโมเลกุล อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อว่า การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งได้รับการตรวจยืนยันการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ภายใน 72 ชั่วโมง หลังเริ่มเกิดอาการแสดง อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เป็นการศึกษาผลเบื้องต้น (Preliminary study) ถึงความปลอดภัยและขนาดที่เหมาะสมในการใช้ยา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีต่าง ๆ ในเลือด เอนไซม์ที่เกี่ยวกับการป้องกันการอักเสบ และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงขยายการวิจัยต่อในคนเป็นระยะที่ 2 โดยได้ศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของตัวยาในร่างกายมนุษย์ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อยืนยันปริมาณสารสำคัญต่าง ๆ ที่จะพบในร่างกายเมื่อใช้สารสกัดขนาดสูงให้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ยาสมุนไพร ที่น่ายินดีอีกเรื่องหนึ่งคือโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ มีความสนใจร่วมศึกษาผลของฟ้าทะลายโจร โดยได้เสนองานวิจัยเข้าพิจารณาในคณะกรรมการงานวิจัยของโรงพยาบาลและพูดคุยกับทีมงานถึงความเป็นไปได้ในการร่วมวิจัยกับกรมต่อไป