เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



อ.เจษฎา ไขกระจ่างอันตรายที่ซ่อนใน "ถั่งเช่า" ผู้มีโรคประจำตัวพึงระวัง


14 ม.ค. 2564, 09:44



อ.เจษฎา ไขกระจ่างอันตรายที่ซ่อนใน "ถั่งเช่า" ผู้มีโรคประจำตัวพึงระวัง




รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กให้ความรู้ กรณีกระแสโฆษณา "ถั่งเช่า" ที่กำลังมาแรงมาก ๆ จนน่าแปลกใจ เจอทุกช่องทีวี ซึ่งมีคนส่งคำถามมาถามทุกวัน ว่ากินแล้วอันตรายหรือไม่ ? จึงขอนำบทความเก่าที่เคยเขียนไว้ โดยใช้ข้อมูลจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาอ้างอิง ซึ่งพบว่า มันเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่มาจากเชื้อราเจริญเติบโตบนซากหนอน มีสรรพคุณเชิงเภสัชสมุนไพรหลายอย่าง และสามารถบริโภคได้ ถ้าไม่กินเยอะเกินไป หรือมีอาการแพ้ รวมถึงผู้ป่วยบางโรค  

 

“ถั่งเช่า” หรือที่เรียกกันว่า “หญ้าหนอน” นั้น ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวหนอนของผีเสื้อ (Hepialus armoricanus Oberthiir) และส่วนที่เป็นเห็ด (Cordyceps sinensis (Berk.) Saec.) ในฤดูหนาว หนอนจะฝังตัวจำศีลอยู่ใต้ดินภูเขาหิมะ เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย ตัวหนอนเหล่านี้ก็จะกินสปอร์เห็ดเข้าไป และเมื่อฤดูร้อน สปอร์ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นเส้นใยโดยอาศัยการดูดสารอาหาร และแร่ธาตุจากตัวหนอนนั้น เห็ดเหล่านี้งอกขึ้นสู่พื้นดิน ลักษณะคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนจะค่อย ๆ ตายไป อยู่ในลักษณะของหนอนตายซาก 



“ถั่งเช่า” ถือได้ว่าเป็นยาสมุนไพรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีนนานนับศตวรรษ ถั่งเช่าอุดมไปด้วยสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โพลีแซคคาไรด์ (galactomannan), นิวคลีโอไทด์ (adenosine, cordycepin), cordycepic acid, กรดอะมิโน และสเตอรอล (ergosterol, beta-sitosterol) นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่น ๆ เช่น โปรตีน วิตามินต่างๆ ( Vit E, K, B1, B2 และ B12) และแร่ธาตุต่าง ๆ (โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซิลิเนียม) เป็นต้น (ดูรายละเอียดเรื่อง กรณีศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ของถั่งเช่าต่อ การกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ลดระดับน้ำตาลในเลือด การฟื้นฟูระบบการทำงานของไต จากลิงค์ของคณะเภสัช มหิดล ด้านล่าง)


แต่ถั่งเช่าก็มีข้อควรระวังในการบริโภคคือ 
1. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ จะไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือด
2. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
3. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) ทั้งนี้เพราะว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
4 . ขนาดบริโภคของผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 18 ปี) ในแต่ละวัน ประมาณ 3-9 กรัม ชงกับน้ำร้อน หรือประกอบอาหาร ขนาดการใช้ที่มากเกินไปอาจจะก่อเกิดผลเสียได้


5. การใช้ในหญิงมีครรภ์ หญิงในนมบุตร และในเด็ก ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ 
และ 6. ห้ามใช้ในคนที่แพ้เห็ด Cordyceps ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ

สรุปสั้นๆ ว่า ถ้าเป็นคนปกติธรรมดา ร่างกายแข็งแรง ก็กินถั่งเช่าเป็นอาหารเสริมได้ แต่ถ้าใครมีโรคประจำตัวอยู่ หรือคนที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ ตามในข้อมูล ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนดีที่สุด  

อีกประเด็นที่สำคัญ ก็คือว่า ถั่งเช่าที่เขียนถึงนี้ คือ "ถั่งเช่าทิเบต" ซึ่งเป็นเชื้อราที่อยู่ในหนอนผีเสื้อจากทิเบต แต่ถังเช่าที่ขายกันในบ้านเราราคาไม่แพงนั้น มักจะเป็น "ถังเช่าสีทอง" ที่เพาะเลี้ยงในขวดได้ และพบว่ามีสารเคมีบางตัวที่มีผลต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคไตด้วย ฉะนั้น จะกินก็ต้องระวังด้วยเหมือนกัน






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.