โฆษก รบ. เผย ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เตรียมชงรัฐสภา
20 ม.ค. 2564, 15:29
วันที่ 20 ม.ค.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วและให้เสนอรัฐสภาต่อไป พร้อมกันให้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อประสานการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการของรัฐสภาต่อไป โดยร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เกี่ยวกับการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ และการพิจารณาบำเหน็จความชอบให้มีหลักการที่ชัดเจน โดยได้เพิ่มบทเฉพาะกาลไว้ในร่างมาตรา 116 วรรคท้าย เพื่อเร่งรัดให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กำหนดการประเมินความพึงพอใจในการบริการประชาชนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. เป็นการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้านกระบวนการยุติธรรม ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจและภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน โดยพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
พร้อมกันนี้คณะรัฐมนตรียังเห็นควรให้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนที่มีมติเห็นควรให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญาตามร่างพระราชบัญญัตินี้แล้ว โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดให้นำเงินกองทุนไปใช้จ่ายได้เฉพาะในส่วนที่มีงบประมาณไม่เพียงพอหรือไม่อาจใช้จากเงินงบประมาณได้ กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาอนุมัติการนำเงินค่าปรับส่งเข้ากองทุน และการจัดทำบัญชีและรายงานการเงินประจำปีของกองทุน ไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อประสานการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการของรัฐสภาอีกด้วย