เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"รพ.นครพนม" ลงนาม MOU พระสงฆ์ สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค หลังพบป่วยเรื้อรังอื้อ


23 ก.พ. 2564, 12:47



"รพ.นครพนม" ลงนาม MOU พระสงฆ์ สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค หลังพบป่วยเรื้อรังอื้อ




วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. ณ ศาลาการเปรียญวัดมหาธาตุ ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ปรับเลี่ยนพฤติกรรมพระสงฆ์กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และสนับสนุนให้มีนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ ในโครงการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพระสงฆ์ สามเณรและแม่ชี ตลอดจนทำบันทึกข้อตกลง MOU คณะสงฆ์นครพนม โดยมี พระครูกิตติสุตานุยุต เจ้าคณะอำเภอเมืองนครพนมเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ประธานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ (มหานิกาย) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายปริญญา ธรเสนา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดนครพนม(สนง.สกสค.ฯ) ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมทั้งนายแพทย์สมโภชน์ กังวานธีรวัฒน์ รักษาการฯผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม เป็นผู้แทนสาธารณสุขจังหวัดฯ(สสจ.ฯ) ในการคัดกรองสุขภาพพระภิกษุสงฆ์

นายปริญญาฯกล่าวว่าปัจจุบันสถานการณ์พระภิกษุได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนพระที่อายุเกิน 60 ปีอยู่ที่ร้อยละ 32 ส่วนหนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ จึงได้มีการจัดบริการเชิงรุกการดูแลสุขภาพพระภิกษุ และจัดอบรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพระภิกษุ สามเณร และแม่ชี ให้เหมาะสมในการดูแลสุขภาพของตนเอง เพื่อป้องกันโรคโดยเน้นหลัก 3 อ. 2 ส.

ข้อมูลเขตสุขภาพที่  8 (รับผิดชอบ 7 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ) ในปี 2563 พบว่า 5 อันดับแรกของโรคเรื้อรังได้แก่ 1.โรคเบาหวาน 2.โรคความดันโลหิตสูง 3.โรคหัวใจและหลอดเลือด 4.โรคหลอดเลือดสมองตีบ(Stroke) และ 5.โรคไตวายเรื้อรัง มีพระสงฆ์จำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง บางรูปถูกตัดนิ้วเท้าทั้งสองข้างจากอาการแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน โดยสาเหตุของการเกิดโรคส่วนใหญ่มาจากปัญหาการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ อีกทั้งพระภิกษุไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตร หรือเอาอาหารมาถวาย ประกอบกับสถานภาพของพระไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค

ดังนั้น รพ.นครพนมและ สนง.สกสค.นครพนม ได้ร่วมกันจัดทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพระสงฆ์และสามเณร เพื่อพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ให้มีองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มการรับรู้และเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รณรงค์ให้พุทธศาสนิกชนถวายภัตตาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ เพื่อลดภาวะเสี่ยงในการเกิดโรค หรือพระสงฆ์ที่มีโรคประจำตัว ควรได้รับภัตตาหารที่เหมาะสมเฉพาะโรค มีการพัฒนารูปแบบวิธีการดูแลส่งเสริมสุขภาพให้กับพระภิกษุสงฆ์ เช่น กิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย เพื่อให้พระสงฆ์เกิดความใส่ใจในการดูแลสุขภาพตัวเองมากยิ่งขึ้น สร้างจิตสำนึกแก่พุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธา โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน วัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมมือกันดูแลสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์แบบองค์รวม ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และมีการประสานการความร่วมมือกันอย่างจริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดบริการเชิงรุกการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้พระคุณเจ้าเกิดพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม และมีสุขภาพดียิ่งขึ้น และมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการของบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพื่อส่งเสริมและป้องกันสุขภาพของพระภิกษุ สามเณรและแม่ชีตลอดจนประชาชนในพื้นที่



จากสถิติปี 2559 พบพระภิกษุ 298,580 รูป สามเณร 59,587 รูป ร้อยละ 60 มีอาการป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสงฆ์เพิ่มขึ้น อาการป่วยสูงสุด คือ โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไตวาย และโรคข้อเข่าเสื่อม

ส่วนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 พบว่าปี 2563 มีพระภิกษุ 13,384 รูป สูบบุหรี่ 6,178 รูป เคยสูบแต่เลิกแล้ว 2,044 รูป ก่อให้เกิดโรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นหวัด หลอดลมอักเสบง่าย โรคทางเดินหายใจและโรคสำคัญอื่นๆ คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง ท้องร่วง ตาและการมองเห็น ปอดอุดกั้น เป็นต้น

จากกรณีดังกล่าวจึงมีการประสานงานโครงการ PPA( งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคระดับเขต) ร่วมกับเจ้าหน้าที่พื้นที่วิเคราะห์ข้อมูลฯ คัดเลือกพื้นที่  อปท.(องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) 2 ใน 4 แห่งที่เป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำกองทุน กปท.(กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น) มาสนับสนุนการสร้างสุขภาวะพระสงฆ์

โดยปี 2562 มีพระภิกษุเข้าร่วมโครงการ 3,800 รูป มีการคัดกรองและตรวจโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด 100 % หลังจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านไป 6 เดือน พบว่ากลุ่มเสี่ยงน้อยเพิ่มขึ้นมาก กลุ่มเสี่ยงปานกลางเพิ่มขึ้นนิดหน่อย และกลุ่มเสี่ยงมากลดลงค่อนข้างมากเช่นกัน มีการพัฒนาวัดส่งเสริมสุขภาพ มีรูปแบพระ อสว.(พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด) ในการดูแลพระสงฆ์ ญาติโยมมีความรู้ในการถวายอาหารพระ

ส่วนโครงการสร้างเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ในพื้นที่ พบว่ามีการพัฒนากลไกขับเคลื่อนในรูปแบบคณะทำงานฯ พัฒนาโครงการเสนอของบฯ กปท. มีการจัดทำฐานข้อมูลพระภิกษุสามเณรชัดเจน มีการคัดกรอง ถวายความรู้เรื่องสิทธิ/เน้นเบาหวาน ความดัน หลัก 3 อ. และสร้างความร่วมมือกลุ่มเสี่ยงในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างความร่วมมือชุมชน แกนนำ อสม. และบุคลากรในวัดกำกับติดตามเรื่องการถวายอาหารใส่บาตร เฝ้าระวังกลุ่มป่วยอย่างใกล้ชิดฯลฯ







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.