เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 64


24 ก.พ. 2564, 13:39



ครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 64




วันที่ 23 ก.พ. 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ เป็นเงิน 1,539,832.78 ล้านบาท จากเดิม 1,465,438.61 ล้านบาท เป็นการปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 74,394.17 ล้านบาท



ทั้งนี้สาระสำคัญของการปรับแผนฯ ได้แก่ การกู้เงินเพื่อดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชี้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 จำนวน 76,239 ล้านบาท การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณฯ จำนวน 120,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานภาครัฐและโครงการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ - รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย /โครงการขยายระบบไฟฟ้า ระยะที่ 12 ของการไฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งโครงการพัฒนา ที่จะเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 18 โครงการ เช่น โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า /โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางของการยางแห่งประเทศไทย และการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจำนวน 441.87 ล้านบาท


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะฯ  ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 1 อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19ฯ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยประมาณการณ์ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ 56.74 ซึ่งยังอยู่ภายใต้สัดส่วนไม่เกินร้อยละ 60 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด ซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ติดตามเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะโครงการลงทุน ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19 ฯ รวมทั้งเตรียมความพร้อมจัดหาแหล่งเงินให้เพียงพอทั้งในภาวะปกติและภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้การดำเนินมาตรการของภาครัฐมีความต่อเนื่อง เพียงพอและทันการณ์ด้วย






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.