ครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล คุ้มครองลูกเรือเป็นธรรมตามหลักสากล
10 มี.ค. 2564, 10:59
วันนี้ (10 มี.ค. 2564) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (9 มี.ค.) ว่า ตามที่รัฐบาลได้บังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานการทำงานของลูกจ้างและคนประจำเรือ เพื่อคุ้มครองแรงงานทางทะเลให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล (Maritime Labour Convention 2006) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) และในกฎหมายได้บัญญัติให้ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติให้ชัดเจน
ครม. จึงมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล การปิดงาน การนัดหยุดงาน และการกระทำอันไม่เป็นธรรม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อเป็นการส่งเสริมเสรีภาพในการรวมตัวของคนประจำเรือและเจ้าของเรือ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การระงับข้อพิพาทแรงงานทางทะเล เกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรือ การกำหนดแนวทางกรณีเจ้าของเรือ อาจปิดงานหรือคนประจำเรืออาจนัดหยุดงาน การกำหนดกรณีเจ้าของเรือที่มีการฝ่าฝืนตามมาตรา 94 อาทิ ห้ามเจ้าของเรือเลิกจ้างหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นผลให้คนประจำเรือไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ เพราะเหตุคนประจำเรือมีการรวมตัวกัน เรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ หรือรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของตน อาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานทางทะเลเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนด บทนิยาม ดังนี้ (1) ข้อพิพาททางทะเล หมายถึง ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรือ (2) การปิดงาน หมายถึง การที่เจ้าของเรือปฏิเสธไม่ยอมให้คนประจำเรือทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานทางทะเล (3) การนัดหยุดงาน หมายถึง การที่คนประจำเรือร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาททางทะเล และ (4) คณะกรรมการ หมายถึง คณะกรรมการแรงงานทางทะเล
2. กำหนดเกณฑ์การทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน ระหว่างฝ่ายคนประจำเรือกับเจ้าของเรือ หากเจรจากันแล้วแต่ตกลงไม่ได้ ให้ถือว่ามีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น โดยอาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ตกลงกันให้มีการไกล่เกลี่ย โดยฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องทำเป็นหนังสือหรือวิธีการอื่น แจ้งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้ดำเนินการไกล่เกลี่ย (2) นำข้อพิพาทที่ตกลงกันไม่ได้ ไปเจรจาตกลงกันเอง (3) ตกลงกันให้มีบุคคลหรือคณะบุคคล เพื่อชี้ขาดข้อพิพาทโดยสมัครใจ (4 )ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานทางทะเลเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด (5) ปิดงานหรือนัดหยุดงาน เมื่อเป็นข้อพิพาทที่เจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ หรือไม่อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยของเจ้าหน้าที่ หรือไม่อยู่ระหว่างการชี้ขาดของบุคคล คณะบุคคล หรือคณะกรรมการแรงงานทางทะเล
3. เจ้าของเรืออาจปิดงาน หรือคนประจำเรืออาจนัดหยุดงานได้ โดยแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่และอีกฝ่ายทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 48 ชั่วโมง
4. ห้ามเจ้าของเรือกระทำต่อคนประจำเรือ ซึ่งที่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม เช่น การเลิกจ้างหรือการกระทำใด ๆ อันอาจเป็นผลให้คนประจำเรือ ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไป เพราะเหตุที่คนประจำเรือร่วมกันจัดตั้งองค์กรเอกชนฝ่ายคนประจำเรือ เป็นต้น
5. คนประจำเรือผู้เสียหาย อาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานทางทะเลเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งภายใน 90 วัน หากคนประจำเรือหรือเจ้าของไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของคณะกรรมการฯ มีสิทธิ์ฟ้องศาลได้ภายใน 30 วัน กรณีที่เจ้าของเรือเป็นฝ่ายฟ้องศาลจะต้องวางเงินต่อศาลแรงงาน โดยครบถ้วนตามคำสั่ง ถึงจะฟ้องคดีได้