เตือนภัย พื้นที่สีแดงเถือก 25 จังหวัด รับมือฝนถล่มหนัก จากอิทธิพลพายุฤดูร้อน
22 มี.ค. 2564, 09:36
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. วันที่ 23 มีนาคม 2564 โดยจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสูง (พื้นที่สีแดง) ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, พะเยา, น่าน, แพร่, ลำปาง, ลำพูน, ตาก, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, พิจิตร, เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, ลพบุรี, สระบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, ราชบุรี
พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) ได้แก่ เลย, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สระแก้ว, ปราจีนบุรี, นครนายก, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, นครปฐม, ปทุมธานี, นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
ด้วยในช่วงวันที่ 21 - 22 มีนาคม 2564 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบน มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ หลังจากนั้นในวันช่วงที่ 23-24 มีนาคม 2564 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิจะลดลง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้ ส่วนในช่วงวันที่ 25 - 27 มีนาคม 2564 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กับมีอากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างและทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรในช่วงวันที่ 22 - 24 มีนาคม 2564