มท.ร่วมถก The 17th SOMRDPE เน้นยุทธศาสตร์ 5 ประเด็นขับเคลื่อนแผนฯ
26 มี.ค. 2564, 13:56
วันนี้ (26 มี.ค. 64) เวลา 09.00 น. ณ ห้องเพลินจิต ชั้น F โรงแรม แกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ เพลินจิต ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ครั้งที่ 17 (The 17th ASEAN Senior Official Meeting Meeting on Rural Development and Poverty Eradication : The 17th SOMRDPE) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ภายใต้แนวคิด การพัฒนาชนบทเพื่อขจัดความยากจนอย่างยั่งยืน มุ่งสู่การมีภูมิคุ้มกันอย่างมั่นคงของอาเซียน (Rural Development for Sustainable Poverty Eradication : Toward a Caring and Resilient ASEAN) มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานผลและความก้าวหน้าในการดำเนินงานของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงความท้าทายในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ พ.ศ. 2559-2563 ตลอดจนการพิจารณารับรองแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน (Framework Action Plan on Rural Development and Poverty Eradication: FAPRDPE ปี ค.ศ.2021-2025) อันจะเป็นแนวทางความร่วมมือการดำเนินงานในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) วิสัยทัศน์ของอาเซียน (ASEAN Blueprint 2025) และวิสัยทัศน์ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC Blueprint 2025) ในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประชาคมทั้งสามและสาขาต่างๆ ภายใต้ประชาคม ในการพัฒนาชนบทและแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับประชาชนของอาเซียน
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร กล่าวว่า แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน (FAPRDPE) ปี ค.ศ. 2021-2025 มีสาระสำคัญ คือ ความร่วมมือแบบข้ามเสา (Cross Pillar) และข้ามกรอบความร่วมมือ (Cross Sectoral Collaboration) ในประเด็นสำคัญเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) การป้องกันทางสังคม (Social Protection) การปฏิวัติอุตสาหกรรมโลก ครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) บทบาทของเพศสภาพที่หลากหลายในบริบทโลกสมัยใหม่ (Gender Mainstreaming) และการฟื้นฟูเยียวยาประเทศในภูมิภาคอาเซียนจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ASEAN Recovery From COVID-19) ด้วยยุทธศาสตร์ 5 ประเด็นในการขับเคลื่อนแผนฯ ได้แก่ (1) การส่งเสริมการปรับตัวของคนในชนบทให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม (FastTrack Rural Transformation to Enable Participation in Socio-Economic Opportunities) (2) การมีหลักประกันว่าคนยากจนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา สวัสดิการทางสังคมและระบบบริการด้านสุขภาพ รวมถึงการส่งเสริมสวัสดิการและสุขภาพ (Ensure Access to Education, Social Services and Healthcare towards Enhanced Welfare and Healthy Lifestyle in Rural Communities) (3) การเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน/องค์การ เพื่อรองรับการดำเนินงานที่และสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น (Institutionalized Disaster Preparedness Programs to Environment and Climate Change Risks towards Resilient Communities and Households) (4) การเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินงานให้กับบุคลากร และการทำให้เกิดความคิดริเริ่มในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน (Good Governance Policy, Institutionalized Mechanisms & Process to Strengthen Convergence of RDPE Initiatives) และ (5) การมีกลไกด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนที่บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม (Institutionalized Multi Stakeholder Rural Development Mechanisms) ซึ่งประเทศไทยได้เสนอแผนงานเข้าสู่ FAPRDPE 2021-2025 จำนวน 11 โครงการ จาก 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงศึกษาธิการ 1 โครงการ กระทรวงคมนาคม 3 โครงการ กรมที่ดิน 1 โครงการ กรมการปกครอง 1 โครงการ กรมการพัฒนาชุมชน 4 โครงการ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 1 โครงการ