รมว.ศึกษาฯ แถลงชู 12 นโยบาย 7 วาระเร่งด่วน พัฒนาการศึกษาชาติ
29 มี.ค. 2564, 19:46
วันนี้ 29 มีนาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระพุทธรูปประจำกระทรวง พระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์สยามิศรจักรี สัฏฐีอนุสรณ์ ศึกษาทรรังสรรค์ศาลพระภูมิ และพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) จากนั้นพบปะและมอบนโยบายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ
รมว.ศึกษาธิการ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก่อนการประชุมว่า วันนี้ถือเป็นวันเริ่มต้นการทำงานวันแรก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นกระทรวงขนาดใหญ่ที่มีกรอบภาระงานมากมาย โดยโครงการดี ๆ ที่อดีต รมว.ศธ. ดำเนินการไว้ ซึ่งจะสานต่อ เช่น โรงเรียนคุณภาพชุมชน ซึ่งเป็นงานสำคัญที่จะต้องเร่งสานต่อให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่สังคมจับตามองอยู่ อาทิ เรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งโรงเรียนถือเป็นบ้านหลังที่สองของเยาวชน จึงมีความคาดหวังของผู้ปกครองและสังคมอย่างมาก โดยต้องหาแนวทางในการทำอบ่างไรให้มีมาตรการที่ถูกต้อง หากระบวนการป้องกันการเกิดเหตุร้ายจากกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อช่วยดูแลให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง ความรู้เรื่องดิจิทัลและทักษะที่จําเป็นในศตวรรษที่ 21 การขับเคลื่อนภาพลักษณ์ที่ดีของการอาชีวศึกษา เป็นต้น
จากนั้นได้พบผู้บริหารทุกหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ห้องประชุมราชวัลลภ เพื่อรับฟังข้อมูลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. นำเสนอ จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ มอบนโยบายการจัดการศึกษา
โดย 12 นโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการมีดังนี้
1.การปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกระดับการศึกษาให้มีความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย
2.การพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา ให้มีสมรรถนะทางภาษาและดิจิทัล เพื่อให้ครูและอาจารย์ใด้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะทั้งด้านการจัดการเรียนรู้ ด้วยภาษาและดิจิทัล สามารถปรับวิธีการเรียนการสอนและการใช้สื่อทันสมัย และมีความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดกับผู้เรียน
3.การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลฝานแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (NDLP) และการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิทัลในชีวิตประจำวัน เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ ที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ทันสมัยและเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางผ่านระบบออนไลน์ และการนำฐานข้อมูลกลางทางการศึกษามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา
4.การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายการศึกษาแห่งชาติที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อกำหนดให้มีระบบบริหารและการจัดการ รวมถึงการจัดโครงสร้างหน่วยงานให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ สถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว การบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน มีระบบการบริหารงานบุคคลโดยยึดหลักธรรมาภิบาล
5.การปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ พร้อมจัดทดสอบวัดความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการและสายวิชาชีพ เพื่อให้ระบบการประเมินผลการศึกษาทุกระดับและระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย ตอบสนองผลลัพธ์ทางการศึกษาได้อย่างเหมาะสม
6.การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการระดมทรัพยากรทางการศึกษาจากความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษามีความเป็นธรรมและสร้างโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกลุ่มอื่น ๆ กระจายทรัพยากรทั้งบุคลากรทางการศึกษา งบประมาณและสื่อเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง
7.การนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สู่การปฏิบัติ เป็นการผลิตและการพัฒนากำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ เชื่อมโยงระบบการศึกษาและการอาชีพ โดยใช้กลไกการเทียบโอนประสบการณ์ด้วยธนาคารหน่วยกิตและการจัดทำมาตรฐานอาชีพในสาขาที่สามารถอ้างอิงอาเซียนได้
8.การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจวินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย เพื่อเป็นการขับเคลื่อนแผนบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 สู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย และมีการติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะ
9.การศึกษาเพื่ออาชีพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาและอาชีวศึกษามีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้
10.การพลิกโฉมระบบการศึกษาไทยด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา เพื่อให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาผ่านระบบดิจิทัล
11.การเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
12.การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาและผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ
ภาพจาก กระทรวงศึกษาธิการ