"โรงยางอุดร 6 แห่ง" จับมือลงนาม MOU ไม่ซื้อยางก้อนถ้วยแก้ปัญหากลิ่นเหม็นให้ชาวบ้าน
10 ส.ค. 2562, 10:04
วันที่ 9 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมน้ำโสม โรงแรมเซนทารา จ.อุดรธานี นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี , นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ลดปัญหามลพิษจากกระบวนการผลิตยางพาราพื้นที่ จ.อุดรธานี กับโรงงานผลิตยางแท่ง (STR20) 6 โรง คือ บ.กว๋างเขินรับเบอร์ (แม่น้ำโขง) จก. , บ.ซูมิรับเบอร์ ไทยอีสเทริน คอร์ปอเรชั่น จก. , บ.ไทยฮั้วยางพารา จก. สาขาอุดรธานี , บ.วงศ์บัณฑิต จก.สาขาสอุดรธานี , บ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จก.สาขาอุดรธานี และการยางแห่งประเทศไทย สาขาอุดรธานี
ทั้งหมดมีข้อตกลงด้วยความสมัครใจ ร่วมกันผลักดัน และประสานความร่วมมือ ในการลดปัญหามลพิษ ตั้งแต่การสะสมวัตถุดิบ การขนส่ง และกระบวนการผลิตยางแท่ง โดยขอให้ผู้ประกอบการร่วมกันรณรงค์ รับซื้อยางเครปชนิดบาง หรือยางก้อนถ้วยที่มีค่าเนื้อยางแห้ง (DRC) ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และลดการสะสมวัตถุดิบ ไว้ในโรงงานจำนวนมากเกินความจำเป็น ทั้งนี้ส่วนราชการต้องให้การสนับสนุน ในการลดปัญหามลพิษจากการผลิตยางพารา
นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวว่า ปัญหามลพิษจากการผลิตยางพารา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลิ่น เสียง และน้ำเสีย เกิดขึ้นมานาน การแก้ไขปัญหาได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการบูรณาการกันทุกหน่วยงาน โดยมี พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ผู้ตรวจราชการพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้ลงพื้นที่สนับสนุนและช่วยเหลือ จนได้รับข้อสรุปเป็นข้อตกลงความร่วมมือ ที่ทุกฝ่ายร่วมทำด้วยความสมัครใจ
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ติดตามรายงานและสอบถามมาตลอด ช่วงเริ่มต้นก็ยังไม่ได้รับความสะดวกมากนัก ที่สุดก็เกิดความเข้าใจ ร่วมกันแก้ไขปัญหาเป็นหนึ่งเดียว ทำให้การทำงานราบรื่นขึ้น ก็จะรายงานเรื่องให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งกรณีที่อุดรธานีจะเป็นตัวอย่าง ของการร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัย โดยจะนำตัวอย่างนี้ ไปใช้ยกระดับพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศด้วย
นายปราโมทย์ฯ รอง ผวจ.อุดรธานี ตอบข้อซักถามด้วยว่า หลังจากทำบันทึกข้อตกลงแล้ว ก็เกรงว่าจะเกิดลานรับซื้อยาง โกดังเก็บยางก้อนถ้วย หรือโรงผลิตยางเครป ไปตั้งอยู่ในพื้นที่ปลูกยางพารา อาจจะทำให้ปัญหาไปเกิดในจุดนั้น ๆ ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้หน่วยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ พิจารณายกร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น กำกับดูแลโรงานเหล่านั้น ส่งให้ผู้บริหาร เทศบาลฯ และ อบต. นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ส่วนเรื่องค่ามาตรฐานกลิ่นโรงงานแท่ง ที่จะมีการประกาศใช้ครั้งแรก ที่ปากปล่องไม่เกิน 2,500 หน่วย ริมรั่วโรงงานไม่เกิน 30 หน่วย ที่ผู้ตรวจราชการพิเศษฯ แจ้งว่ารอการลงนามของรัฐมนตรี
สำหรับตัวแทนโรงงานยางแท่งทั้ง 6 โรง ยืนยันว่าพร้อมจะดำเนินการ ตามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ได้ คือการซื้อยางเครปแบบบาง และยางก้อนด้วยความชื้นไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อมีการประกาศใช้ค่ามาตรฐาน กลิ่นโรงงานยางแท่ง ผู้ประกอบการก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน ซึ่งมีทั้งโรงงานที่มีความพร้อมแล้ว และโรงงานที่อยุ่ระหว่างดำเนินการ แต่ก็มีความเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการได้