บุคลากร รพ.มหาราชนครฯ ร่ำไห้ หลังผู้ป่วยโควิดปกปิดข้อมูล ต้องถูกกักตัว 14 วัน
26 เม.ย. 2564, 09:43
ภาพเหตุการณ์ขณะที่พยาบาลงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เดินแถวร่ำไห้พร้อมนำกระเป๋าสัมภาระออกจากห้องฉุกเฉิน เพื่อเข้าสู่กระบวนการกักตัวติดตามอาการ หลังจากเกิดเหตุการณ์เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา เมื่อผู้ป่วยรายหนึ่งตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในชั้นต้น และปกปิดข้อมูล ทำให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยรายนั้นได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยภาพนี้ได้ถูกส่งต่อในโซเชียลมีเดีย สร้างความเห็นอกเห็นใจแพทย์ และพยาบาลอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์โรคระบาดในขณะนี้ โดยมีการเรียกร้องให้ผู้ป่วยหยุดปกปิดข้อมูลเพื่อเซฟเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์
ขณะที่ นพ.จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เปิดแถลงสถานการณ์ประจำวันในส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สาเหตุเกิดจากการปกปิดข้อมูลของผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์จำนวนกว่า 10 ราย ที่ต้องหายไปจากระบบงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
เมื่อถามว่าจะมีการดำเนินการทางคดีต่อผู้ที่ปกปิดข้อมูลหรือไม่ นพ.จรัสพงษ์ กล่าวว่า ในกรณีเช่นนี้สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงผู้ป่วยที่ได้รับความทุกข์จากโรคอยู่แล้ว ในทางการแพทย์ไม่ควรเข้าไปทำให้ทุกข์มากขึ้นไปอีก ดังนั้น สิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ทำได้ในขณะนี้ คือ การเพิ่มความระมัดระวังตัวเอง ยกระดับการป้องกัน ต้องสันนิษฐานว่าทุกคนที่เข้ามาป่วยติดเชื้อไว้ก่อน
นอกจากนั้น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังกล่าวถึงกรณีข้อมูลของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายหนึ่งใน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ถูกเผยแพร่ออกมานั้น ได้ขอโทษผู้ป่วยรายนั้นแล้ว พร้อมกันนั้นได้สั่งการให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งใหญ่ ตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงถึงข้อมูลในงานเวชระเบียนว่าหลุดออกมาได้อย่างไร เพื่อให้มีการดำเนินการไปตามขั้นตอน
ส่วนผู้ป่วยที่ติดเชื้อในวันนี้เพิ่มขึ้น 22 ราย ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมในระลอกเดือนเมษายน จำนวน 215 ราย มีผู้ป่วยที่อยู่ในระดับวิกฤต 1 ราย เป็นชายชรา อายุกว่า 80 ปี มีผู้ที่รักษาอาการหาย และกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติแล้ว จำนวน 6 ราย สำหรับผู้ติดเชื้อที่ปรากฏในวันนี้ เป็นกลุ่มที่เจ้าหน้าที่ติดตามสอบสวนจากกลุ่มเสี่ยงสูงจากผู้ติดเชื้อรายเดิม และมีผู้ป่วยที่ปรากฏใหม่จากการเดินทางมาเยี่ยมบ้านของเครือญาติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น