อ.เจษฎา เตือนคลิปเภสัชกรหญิง แนะซื้อยา 5 ชนิด รักษาโควิด ไม่ถูกต้อง ไม่ควรแชร์ต่อ
28 เม.ย. 2564, 10:36
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ออกเผยผ่านเฟซบุ๊ก กรณีคลิปวีดีโอไวรัลของเภสัชกรหญิงหน้าตาดีรายหนึ่ง ที่แนะนำซื้อยารักษาโควิด เป็นเรื่องที่ไม่ควรแชร์ต่อ โดยอาจารย์เจษฎา เผยว่า มีคนส่งมาถามกันเยอะ เกี่ยวกับคลิปวีดีโอที่เผยแพร่กันเป็นของ "เภสัชกรหญิงสาวท่านหนึ่ง พูดถึงวิธีการที่รักษาตัว ถ้าป่วยเป็นโรคโควิด-19 และต้องอยู่กับบ้าน ด้วยการกินยาต่าง ๆ " ว่าถูกต้องหรือไม่ ? คำตอบคือไม่ค่อยจะถูกต้องนะครับ และไม่สมควรจะแชร์ต่อแล้ว
ที่สำคัญคือ คุณเภสัชกร เจ้าของคลิปติ๊กต๊อก เขาได้ลบคลิปตัวเอง พร้อมกับทำคลิปขอโทษแล้วครับ จริง ๆ ก็เป็นความปรารถนาดีของคุณเภสัชกรเขา ซึ่งส่วนใหญ่ยาที่เขาแนะนำก็เป็นการบรรเทารักษาตามอาการป่วย ของคนเป็นโรคโควิดแบบที่ไม่รุนแรง และสามารถรักษาตัวเองอยู่กับบ้านแบบ home isolation ได้ แต่เนื่องจากยาบางตัวก็ไม่เหมาะสม จึงขอเสนอว่า คลิปนี้ไม่ควรจะเผยแพร่ต่อมากกว่าครับ อธิบายตามนี้ ยาพาราเซตามอล กินแก้ปวดลดไข้ได้ตามอาการครับ แต่ระวังอย่ากินเกินปริมาณที่กำหนด, วิตามินซี วิตามินดี และซิงค์ (สังกะสี) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มวิตามินเกลือแร่ ที่ร่างกายต้องการ และช่วยเรื่องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ถ้าเกิดป่วยเป็นโรคโควิดแล้ว ไม่มีหลักฐานว่า การได้รับวิตามินเกลือแร่กลุ่มนี้ แม้เป็นปริมาณมาก ๆ ก็ตาม จะช่วยให้หายจากโรคได้ จึงควรจะกินแค่เสริมสุขภาพเท่านั้น ตามปริมาณที่แนะนำข้างขวดนะครับ
ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรที่กำลังเป็นประเด็นฮิตตอนนี้ ซึ่งสามารถเอามาใช้กินบรรเทาอาการเป็นไข้ตัวร้อน เหมือนกับกลุ่มพวกยาพาราเซตามอลได้ แต่ไม่หวังผลว่าใช้รักษาโรคโควิดโดยตรง และที่สำคัญคือ ไม่ควรกินเป็นปริมาณมาก เป็นระยะเวลายาวนาน เพื่อป้องกันโรค อย่างที่แชร์กัน, NAC เป็นยาที่ใช้ละลายเสมหะ ดังนั้น ถ้าเกิดมีอาการป่วยแบบมีเสมหะ ก็สามารถจะใช้กินได้ แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่จำเป็นต้องกิน
และโซดามิ้นท์ อันนี้เป็นความเข้าใจผิด ๆ ตามความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องอาหารด่าง น้ำด่าง ที่ว่าถ้าร่างกายเรามีความเป็นด่าง จะสามารถสู้กับโรคไวรัสได้ ถ้าเป็นกรด ก็ติดเชื้อง่าย จึงให้ไปกินพวกยาที่ทำออกฤทธิ์เป็นด่าง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ได้มีประโยชน์แบบที่ว่าเลย ค่า pH หรือกรดด่างของเลือดในร่างกายเรา มีค่าค่อนข้างคงที่ ที่เป็นด่างอ่อน ๆ ซึ่งปรับสมดุลโดยอัตราการหายใจของร่างกาย ไม่ใช่จากอาหารที่กินเข้าไป ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องพยายามเอาด่างเข้าร่างกายเหมือนที่อ้างกันครับ