รองโฆษก เผยนายกฯ สั่งคุมเข้มสอบท้องถิ่น 64
15 พ.ค. 2564, 18:31
วันที่ 15 พ.ค. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ห่วงใยประชาชน กรณีพบการแอบอ้าง หลอกลวง รับผลประโยชน์จากการสอบข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการกลางสอบแข่งขันท้องถิ่น เพิ่มความเข้มงวดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หลังได้รับเรื่องร้องเรียน ว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น พบกระบวนการทุจริต หลอกลวง แอบอ้างรับผลประโยชน์จากผู้สมัครสอบเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น รัดกุม พร้อมขอให้ผู้ที่สมัครสอบระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อของการกระทำผิดกฎหมาย หากพบพฤติการณ์แอบอ้างรับผลประโยชน์ ให้แจ้งเบาะแส และสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ บันทึกภาพและคลิปวิดีโอไว้เป็นหลักฐานได้ด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ปี 2564 ได้มีการประกาศรับสมัครตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.2564 และมีการเลื่อนประกาศวันสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป(ภาค ก) และภาคความรู้ความสามารถเฉพาะสำหรับตำแหน่ง (ภาค ข) จากเดิมวันที่ 20 เม.ย.2564 เป็นภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2564 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ดำเนินการโดยคณะกรรมการกลางสอบแข่งขันท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ การเรียกรับผลประโยชน์ ตลอดจนความไม่เป็นธรรม ทั้งยังได้ให้มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้จัดการสอบ ให้ดูแลควบคุมการสอบอย่างเป็นระบบ โดยมีการกำหนดมาตรการป้องกันการรั่วของข้อสอบเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นหรือทราบพฤติการณ์การแอบอ้าง ว่าจะช่วยให้ผู้สมัครสอบเป็นผู้สอบได้ โดยใช้วิธีการต่างๆ ขอให้แจ้งศูนย์ดำรงธรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หมายเลขโทรศัพท์ 0-2241-9014 หรือ 02-241-9000 ต่อ 1264 หรือเว็บไซด์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมถึงศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1111 โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย จะถูกดำเนินการทางวินัย มีโทษถึงขั้นถูกไล่ออกจากราชการ รวมทั้งดำเนินการทางกฎหมายไม่ละเว้น
“นายกรัฐมนตรี ต้องการให้การสอบเพื่อเป็นข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น เกิดความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อให้ได้คนดีมีความรู้ อย่างแท้จริงมาปฏิบัติงาน ย้ำเตือนว่าการวิ่งเต้นหรือการแลกรับผลประโยชน์จากการสอบนั้น ถือเป็นการทุจริตอย่างหนึ่ง หากพบการกระทำความผิด จะทำให้ถูกปรับตก และจะไม่มีสิทธิ์สอบเข้าเป็นข้าราชการหรือพนักงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) อีก ขณะที่ผู้เรียกรับผลประโยชน์ เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวเอาจริงเอาจังในการจัดการกับผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะผู้แอบอ้างเสนอรับผลประโยชน์ หลอกลวงประชาชน หากได้รับเรื่องร้องเรียน ขอให้เร่งตรวจสอบอย่างเข้มงวด เร่งหาหลักฐานเพื่อดำเนินคดี หากพบการกระทำความผิดจริงให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย ไม่ดำเนินการ จะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีความผิดตามกฎหมายด้วยเช่นกัน