ศบค. ขับเคลื่อนการบริหารผ่าน 6 กลุ่มเขต งัดมาตรการตรวจเชื้อด้วยน้ำลาย สกัดโควิด-19
29 พ.ค. 2564, 15:14
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยเรื่องแคมป์คนงาน รวม 409 แคมป์ ไซต์งานอยู่ที่เขตหนึ่ง แต่คนงานพักอยู่อีกที่หนึ่ง ทำให้เกิดการกระจายของเชื้อ โดยใน 14 วันที่ผ่านมา พบถึง 37 คลัสเตอร์ใน 27 เขต แนวโน้มทรงตัว แต่มีโอกาสเพิ่มขึ้น เพราะกรุงเทพมหานคร มีประชากรอยู่กันอย่างแออัด หรือราวประมาณ 7 ล้านคน หากรวมอยู่อาศัยนอกทะเบียนบ้าน ก็แตะเกือบ 10 ล้านคน จึงต้องเป็นการบริหารสถานการณ์ผ่านกลุ่มเขต เพื่อให้เกิดขอบเขตการกักกัน เกิดการบูรณาการร่วมกันใน 50 เขต
สำหรับการขับเคลื่อนการบริหารผ่านกลุ่มเขต แบ่งเป็น 6 กลุ่มเขต ได้แก่ กรุงเทพฯ กลาง, ตะวันออก, ใต้, เหนือ และ กรุงธนบุรีใต้, เหนือ แบ่งตามคลัสเตอร์ที่พบผู้ป่วยใน 14 วัน ได้แก่ ดินแดง ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระนคร ราชเทวี สัมพันธวงศ์ และห้วยขวาง ซึ่งต้องบูรณาการกันเนื่องจากอาจมีคนข้ามเขตไปมา การประสานงานระหว่างผู้อำนวยการแต่ละเขต กำกับติดตามโรคให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ คลัสเตอร์ที่ไม่พบผู้ป่วยใหม่ใน 14 วัน อยู่ในกลุ่มเขตกรุงเทพฯ กลาง และ กรุงธนบุรีใต้ ส่วนตลาดแบ่งตามกลุ่มเขต 486 แห่ง พบมากที่สุดในกรุงเทพฯ ตะวันออก 106 แห่ง และชุมชนอีก 2,069 ชุมชน พบมากที่สุดในกรุงเทพฯ เหนือ 460 ชุมชนใน 7 เขต
การบูรณาการผ่านกลุ่มเขตจะต้องอาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงาน เช่น สนข. อสส. ศปม.(ทหาร) ศบส. และจิตอาสา เพื่อแบ่งทีมสอบสวนโรค นำผู้ป่วยเข้ามารักษา โดยสิ่งสำคัญคือ มาตรการตรวจหาเชื้อด้วยน้ำลาย ซึ่งกรมควบคุมโรคยอมรับวิธีการนี้ เพื่อประหยัดเวลา แต่ห้องปฏิบัติการ(แล็บ) ที่ตรวจ ต้องมีการขึ้นทะเบียนรองรับมาตรฐานการตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อน เพื่อให้ตรวจได้วันละเป็นหมื่นราย
โดยในขณะนี้มียอดลงทะเบียนจิตอาสา รวม 366 ราย แบ่งเป็นแพทย์ 23 คน ทันตแพทย์ 27 คน พยาบาล 60 คน ผู้ช่วยพยาบาล 25 คน เภสัชกร 10 คน นักระบาดวิทยา 10 คน ล่านภาษา 16 คน และธุรการทั่วไป 195 คน ซึ่งขณะนี้กระจายลงไปตามกลุ่มเขต ต้องขออนุโมทนากับทุกท่านที่มาร่วมกัน ช่วยเหลือคนไทย ทั้งนี้ ผู้สนใจอยากมาเป็นจิตอาสาเพิ่มเติม สามารถติดต่อไปที่สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร