ศบศ. เคาะเกณฑ์! "4 กลุ่มเป้าหมาย" เศรษฐีต่างชาติซื้อ-เช่าอสังหาฯ ถือครองที่ดิน ลดภาษีมรดก - สรรพสามิต
5 มิ.ย. 2564, 16:05
วันที่ 5 มิ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อ 4 มิ.ย. 64 ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสู่ประเทศไทย การดึงดูดผู้พำนักระยะยาวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนและการจ้างงาน ดังนี้
1. วีซ่าผู้พำนักระยะยาวใหม่ (LTR visa) ดึงดูดต่างชาติกว่า 1 ล้านราย 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) ไม่จำกัดอายุ มีรายได้สูง เดินทางบ่อย ใช้ชีวิตอยู่ในหลายประเทศ และมีทรัพย์สินอยู่ทั่วโลก คุณสมบัติในการขอวีซ่า ลงทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือในอสังหาริมทรัพย์ มีรายได้ส่วนบุคคลขั้นต่ำปีละ 80,0000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) ไม่จำกัดอายุ ทำงานให้กับนายจ้างในต่างประเทศ สามารถทำงานทางไกลจากประเทศอื่นได้ มีรายได้ที่มั่นคงจากต่างประเทศ มี 2 ประเภทย่อย 1.ผู้ประกอบอาชีพด้านดิจิทัล (Digital nomad) 2.พนักงานองค์กรขนาดใหญ่และใกล้จะเกษียณอายุ (Corp Program)
หลักฐานรับรองสำหรับ Digital nomad บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทเอกชนที่ดำเนินงานมาอย่างน้อย 3 ปี และมีรายได้รวมมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และสำหรับ Corp Program มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทใด ๆ ที่มีรายได้รายปี ปีละมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional) ไม่จำกัดอายุ มีประสบการณ์ทำงานทักษะสูง และจะเข้ามาทำงานในประเทศไทยให้บริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมายตาม พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยที่จะเข้ามาทำงานหน่วยงานของรัฐ หรือเข้ามาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย รายได้ส่วนบุคคล เช่น เงินเดือน รายได้จากการลงทุน ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ
หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปี มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปตลอดระยะเวลาถือวีซ่า และกลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) อายุ 50 ปีขึ้นไป มีรายได้สำหรับการเกษียณอายุที่มั่นคงเป็นประจำจากต่างประเทศ ลงทุนขั้นต่ำ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในพันธบัตรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือในอสังหาริมทรัพย์ และมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ตลอดระยะเวลาถือวีซ่า หลักฐานการลงทุนในประเทศไทย หลักฐานการรับเงินบำนาญตลอดช่วงอายุวีซ่า จากกองทุนบำเหน็จบำนาญใด ๆ ของรัฐ บริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง บริษัทที่ก่อตั้งมานานกว่า 10 ปี
ทั้ง 4 กลุ่มจะได้สิทธิประโยชน์ อายุวีซ่า 10 ปี (ผู้ติดตาม หรือคู่สมรสและบุตร จะได้รับสิทธิวีซ่าระยะยาว 10 ปี) ได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน (มีสิทธิพิเศษในการทำงานในประเทศไทย เช่น วิทยากร หรือที่ปรึกษา สูงสุดสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง (เท่ากับข้อจำกัดสำหรับวีซ่า MM2H ของมาเลเซีย) ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ (รวมทั้งรายได้ที่นำเข้ามาในปีเดียวกัน) คิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยในอัตราคงที่ร้อยละ 17 สิทธิในการเป็นเจ้าของ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว (รวมที่ดิน) ในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น โดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่จะได้รับ ได้แก่ 1.คาดว่าผู้พำนักระยะยาวจะใช้จ่ายในประเทศ 1 ล้านบาทต่อปีต่อคนโดยเฉลี่ย 2.การลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท ประมาณจากการลงทุนจากกลุ่มประชากรโลกประมาณ 1 หมื่นคน และกลุ่มผู้เกษียณอายุ 8 หมื่นคน 3.รายได้ทางภาษีที่เพิ่มขึ้น 2.5 แสนล้านบาท จากกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ 4 แสนคน และ 5.กระตุ้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ถ่ายทอดความรู้ใหม่ เพิ่มโอกาสจ้างงานในประเทศ
โดยจะปลดล็อกระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ
1.กำหนดวีซ่าประเภทพิเศษอนุมัติอย่างรวดเร็วและสะดวก ยกเว้นไม่ต้องไปรายงานตัวทุก 90 วัน
2.ให้คนต่างด้าวต้องทำประกันสุขภาพ
3.ให้ผู้ถือวีซ่าตามโครงการสามารถทำงานในประเทศได้ตามคุณสมบัติตามที่ได้ขอวีซ่าไว้
4.ลดพิกัดอัตราอากรนำเข้าไม่เกินกึ่งหนึ่ง สำหรับสินค้าที่เป็นของใช้อุปโภค เช่น สินค้าฟุ่มเฟือยบางประเภท
5.ทายาทไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกของทรัพย์ที่อยู่นอกประเทศไทย
6.ผู้ถือวีซ่าปัจจุบันที่อยู่ในประเทศไทยสามารถเปลี่ยนประเภทวีซ่าผู้พำนักระยะยาวได้
7.ผู้ถือวีซ่าผู้พำนักระยะยาวสามารถขอใบอนุญาตทำงานได้โดยไม่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาการออกใบอนุญาตทำงาน เรื่อง การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คนต้องจ้างพนักงานคนไทย 4 คน
8.เปิดบัญชีธนาคารทั้งสกุลเงินบาทและสกุลเงินต่างประเทศได้สะดวก
9.สิทธิประโยชน์ลดค่าธรรมเนียมและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ในการส่งและรับเงินระหว่างประเทศ
10.ปรับปรุงกฎระเบียบศุลกากรที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าและออกซึ่งสิ่งของส่วนตัวและทรัพย์สินมีมูลค่า
11.กำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศอัตราคงที่เป็นร้อยละ 17
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการจัดตั้งหน่วยบริหารผู้พำนักระยะยาว (LTR service unit) รูปแบบการกำกับดูแล เป็นองค์กรเอกชน เพื่อความยืดหยุ่น รวดเร็วและคล่องตัวในการร่วมงานกับผู้ให้บริการพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อจัดเตรียมบริการที่จำเป็นให้กับผู้พำนักระยะยาว ผู้ให้สัมปทาน เป็นกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ และเป็นการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน กรอบการดำเนินงานภายใต้สัมปทาน เช่น ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและที่ปรึกษา แต่ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เป็นองค์กรเดียวที่ได้รับอนุญาตให้บริการวีซ่าแก่ผู้พำนักระยะยาว คุณสมบัติขององค์กรที่ได้รับสัมปทาน มีความสามารถในการทำการตลาดเพื่อดึงดูดผู้พำนักระยะยาว 1 ล้านคน