กรมการแพทย์ เผยมาตรการแยกกักตัวในชุมชน ดันผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาได้ทันที
15 ก.ค. 2564, 15:21
วันนี้ (15 ก.ค.64) กรุงเทพฯ - กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยมาตรการแยกกักตัวในเขตพื้นที่ชุมชน(Community Isolation) ผลักดันผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการรุนแรง เข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยจัดสรรพื้นที่สำหรับการกักตัวภายในชุมชน เพื่อลดปัญหาจำนวนเตียงที่ไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วย
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า Community Isolation คือการแยกกักตัวผู้ป่วยในชุมชน เพื่อการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสีเขียวให้สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วในขณะที่ยังรอเตียง โดยผู้ป่วยจะได้รับสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการตรวจเช็คอาการด้วยตนเอง พร้อมด้วยการติดตามอาการจากแพทย์และพยาบาลด้วยระบบ Telemedicine และสนับสนุนอาหารครบ 3 มื้อ
โดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้จัดเตรียมสถานที่สำหรับกักตัวผู้ป่วยในเขตพื้นที่ซึ่งแยกบริเวณออกจากชุมชนไว้ อาทิ ศาลาวัด หอประชุมโรงเรียน แคมป์คนงาน หรือหมู่บ้านซึ่งมีพื้นที่เพียงพอสำหรับกักตัวผู้ป่วยไม่เกิน 200 คน เพื่อลดความแออัด และจัดการสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ
หลักเกณฑ์สำคัญในการปฏิบัติงานของ Community Isolation คือ ผู้ป่วยต้องเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ที่อาศัยอยู่ในชุมชน ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย อายุต่ำกว่า 60 ปี ไม่มีโรคเรื้อรัง และไม่มีความจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการ โดยผู้ป่วยจะได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์พร้อมด้วยการติดตามอาการจากแพทย์และพยาบาล และแนะนำวิธีทดสอบออกซิเจนในเลือด กรณีสงสัยว่าปอดมีปัญหาหรือไม่ โดยให้วัดออกซิเจนในเลือดก่อนออกกำลังกายลุกนั่ง 1 นาที และวัดซ้ำหลังทำ หากปริมาณออกซิเจนลดลงมากกว่า 3 % จะถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาล และมีการจัดเตรียมระบบการส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลกรณีฉุกเฉิน โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย และภาคประชาสังคม ในการนำระบบสุขภาพปฐมภูมิ เช่น Telemedicine, ระบบการเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน Home Health care มาปรับใช้ ซึ่ง Community Isolation จะช่วยลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ ซึ่งจะสามารถลดโอกาสการแพร่เชื้อได้ในเวลาเดียวกัน
“ความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนจากสมาชิกภายในครอบครัวผู้ป่วย จะช่วยให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาที่รวดเร็ว ลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต ความร่วมจากทุกภาคส่วน จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา กรมการแพทย์