กทม.ปรับหลักเกณฑ์การรับผู้ป่วยโควิด-19 ส่งเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วขึ้น
5 ส.ค. 2564, 15:04
วันนี้ ( 5 ส.ค.64 ) นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการนำผู้ป่วยโควิด-19 เข้าระบบการรักษาโดยการแยกกักตัวที่บ้านและแยกกักตัวในชุมชน ว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโควิด-19 สามารถติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งเป็นหมายเลขกลางและขณะนี้ กทม. ได้เปิดให้บริการสายด่วนโควิด 50 เขต เพิ่มเติมเขตละ 20 คู่สาย ซึ่งประชาชนสามารถโทรได้ทั้งสองช่องทาง นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าผ่านทาง web application โดยการสแกนผ่าน QR code จากนั้น จะมีการลงบันทึกข้อมูลผ่านทาง web portal ของ สปสช. ระบบจะจับคู่หน่วยบริการอัตโนมัติและส่งไปให้กับศูนย์บริการสาธารณสุข หรือคลินิกอบอุ่นที่อยู่ใกล้บ้านของผู้ป่วย ซึ่งจะดำเนินการตอบรับผู้ป่วยภายใน 24 ชั่วโมง โดยจะมีการประเมินว่าเป็นสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง กรณีที่เป็นสีเขียว จะเข้าระบบแยกกักตัวที่บ้าน แต่หากไม่สะดวก จะส่งต่อไปสถานที่กักตัวในชุมชน หรือหากประเมินแล้วเป็นสีเหลืองหรือสีแดง ทางกรมการแพทย์ ได้จัดทำระบบ Bed Management Center โดยทำการหาเตียงที่ว่างเพื่อส่งต่อผู้ป่วย ในส่วนของการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะดำเนินการโดยศูนย์เอราวัณ 1669 ซึ่งดูแลรถรับส่งผู้ป่วยในภาพรวม โดยมีการจัดตั้ง War room อยู่ที่อาคารธานีนพรัตน์ชั้น 27 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง ซึ่งมีการประชุมและประสานงานร่วมกันทุกวัน
นอกจากนี้ สวทช. และ DGA ได้พัฒนาโปรแกรม BKK HI/CI care ซึ่งสามารถใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน โดยแพทย์สามารถติดต่อกับคนไข้ผ่านทาง LINE OA เพื่อสอบถามอาการป่วยในแต่ละวัน ได้รับความร่วมมือจากจิตอาสาในหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมทำงาน อาทิ การจัดส่งอาหารให้กับผู้ป่วย ได้รับความร่วมมือจากสมาคมภัตตาคารไทย รวมถึงทางเดลิเวอร์รี่ Skootar ในการส่งอาหาร เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ครอบคลุมทั้ง 50 เขต รวมถึงการจัดส่งยาหรืออุปกรณ์แรกรับ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนจะมีเอกสารคำแนะนำส่งไปให้ถึงบ้าน นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุข ตำรวจนครบาล จิตอาสาพระราชทาน ส่งยาให้ผู้ป่วย รวมจำนวนหน่วยบริการทั้งหมดในกทม.รวบรวมได้ประมาณ 238 แห่ง รองรับผู้ป่วยประมาณ 80,000 – 100,000 คน
ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักอนามัย พิจารณาหลักเกณฑ์ในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ ให้เอื้อต่อการทำงานได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมจัดทำแนวทางในการนำผู้ป่วยโควิด-19 เข้าระบบการรักษา โดยการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) และการแยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนและดำเนินการได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งมอบหมายให้สำนักงานเขตดูแลให้คำแนะนำการจัดตั้งศูนย์แยกกักโดยชุมชนให้สามารถดำเนินการได้เพื่อช่วยลดผู้ป่วยตกค้างในชุมชนโดยเร็วที่สุด