รัฐบาล ออกมาตรการดูแลเด็กป่วยโควิด-19 และเด็กกำพร้าจนโต
8 ส.ค. 2564, 15:10
วันนี้ ( 8 ส.ค.64 ) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เร่งดำเนินการและเพิ่มศักยภาพในการเข้าดูแลผู้ป่วยโควิด-19ด้วยระบบการดูแลแบบแยกกักตัวที่บ้าน/ชุมชน เพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม จำนวนเตียงเพื่อดูแลผู้ป่วยระดับที่มีอาการและอาการหนัก ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน/เอกชน และอาสาสมัครอย่างดียิ่ง สำหรับผู้ป่วยเด็กที่พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าให้การดูแลตามระบบสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและไม่มีคนดูแล เนื่องจากพ่อแม่/ผู้ปกครองติดเชื้อโควิด-19 จะมีการประสานเพื่อไปอยู่ที่สถานกักตัวของรัฐ (State Quarantine ) เป็นเวลา 14 วัน และหากผู้ปกครองยังรักษาตัวไม่หายหรือยังไม่สามารถดูแลเด็กได้ เด็กจะได้รับการดูแลในสถานสงเคราะห์จนกว่าผู้ปกครองจะมีความพร้อม กรณีเด็กกำพร้าเนื่องจากพ่อแม่หรือผู้ดูแลเสียชีวิตทั้งหมดจากโรคโควิด-19
เบื้องต้น กระทรวงพม. รายงานว่ามีจำนวน 35 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่ครบทุกจังหวัด คาดว่าจะมีมากกว่านี้ โดยกระทรวงฯจะให้การช่วยเหลือในระยะยาวด้วย ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์รับเด็กที่ผู้ปกครองเสียชีวิตจากโรคโควิด-9 เป็นเด็กนักเรียนในพระบรมราชานุเคระห์ ซึ่งจะได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และสามารถเรียนได้สูงที่สุดตามความสามารถของเด็ก ซึ่งพม. จะดำเนินการประสานขอทุนการศึกษาให้กับเด็กกำพร้าทั้งหมด และหากเด็กไม่มีญาติดูแลก็จะให้เข้าสู่กองทุนคุ้มครองเด็กที่สามารถประสานครอบครัวอุปถัมภ์ โดยจะมอบเงินดูแลจนกว่าเด็กจะจบการศึกษา นอกจากนี้ กระทรวง พม. ยังร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต และองค์การยูนิเซฟประเทศไทย จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด19 เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยคำนึงถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา
หากประชาชนพบเห็นเด็กกำพร้าหรือกลุ่มเปราะบางกำลังประสบปัญหาทางสังคมและความเดือดร้อนจากผลกระทบของโรคโควิด-19 สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ 1) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร.1300 2) สายด่วนคนพิการ โทร.1479 3) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ และ 4) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า เพิ่มเติมจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้เร่งเพิ่มจำนวนศูนย์พักคอย/ศูนย์แยกรักษาชุมชน นายกฯยังกำชับอยู่ตลอดให้ทุกหน่วยงานคำนึงถึงกลุ่มคนเปราะบาง ที่ต้องมีระบบการดูแลเป็นพิเศษมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งกทม. ได้เปิดศูนย์พักคอยสำหรับเด็กเพื่อส่งต่อแห่งแรกไปแล้ว ตั้งอยู่บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยเกียกกาย เขตดุสิต สำหรับเด็กอายุ 3-14 ปี มีทีมแพทย์จากวชิรพยาบาล เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วยเด็ก รวมทั้งมีอาสาสมัคร พี่เลี้ยงเด็ก ครูอาสาคอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และยังอยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับ กระทรวงพม. และสมาคมสภาคนพิการทุกประเภท เพื่อเปิดศูนย์พักคอยสำหรับผู้พิการทางสติปัญญา ณ สถาบันราชานุกูล และผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ณ อาคารศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมผู้พิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ศพอ.)