ศบค.ยันฉีดวัคซีนไขว้ภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้น เผยผู้ป่วยรอเตียงลดลงหลังใช้ระบบกักตัวที่บ้าน
20 ส.ค. 2564, 14:29
วันนี้ ( 20 ส.ค.64 ) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงการให้วัคซีนไขว้ หรือวัคซีนสลับยี่ห้อ มีรายงานของ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับศิริราชพยาบาล ว่า มีการศึกษาการให้วัคซีนเข็มที่ 3 สลับยี่ห้อ ต่อการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า มีผู้เข้าร่วมศึกษา 125 ราย กลุ่มแรก คือ ผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ,กลุ่มที่ได้รับวัคซีน astrazeneca 2 เข็ม, กลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค เข็มแรก และ astrazeneca เข็ม 2, และ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม และ astrazeneca เข็มที่ 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นสูงที่สุด 271.17 กระทรวงสาธารณสุข จึงเห็นว่าควรจะมีการฉีดวัคซีนไขว้
โดยที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก กทม. ก็รับนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติ เพราะนอกจากจะเพิ่มภูมิคุ้มกันได้แล้ว ยังเว้นระยะห่างของเข็มแรกกับเข็มที่ 2 เพียง 3 สัปดาห์ สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยคลินิกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังมีการศึกษาวิจัยวัคซีนต่างชนิด ทั้งในส่วนเข็มที่ 1 และเข็ม 2 ยี่ห้อต่างกัน และมีการกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3 วัคซีนไฟเซอร์ ด้วย
ส่วนระดับความรุนแรงของผู้ติดเชื้อรอการจัดสรรเตียง เฉพาะผู้ป่วยระดับสีแดงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ลดลงอย่างมาก หลังจากใช้ระบบ home isolation และ community isolation ทำให้มีจำนวนเตียงว่างเพียงพอ ต้องขอขอบคุณส่วนพักคอย ที่มีอยู่ 70 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 9,426 เตียง ทำให้สามารถปรับเตียงเพื่อไปดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลด้วยออกซิเจน และทิศทางหลังจากนี้จะสามารถรองรับผู้ป่วยระดับสีแดงได้มากขึ้น
ส่วนผู้ป่วยที่แยกจากตัวอยู่ที่บ้าน หรือ home isolation จะมีหน่วยปฐมภูมิ 262 หน่วย และทีมเดินเท้า CCRT เข้าไปถึงทุกชุมชน ให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจ ATK และสามารถเข้าสู่ระบบการกักตัวที่บ้านได้ทันที/แต่หากไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ จะต้องตรวจด้วยวิธี rt-pcr อีกครั้ง เพื่อเข้าสู่ระบบการตัดตัวในชุมชน หรือ community isolation
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วย covid 19 ในกรุงเทพฯที่ต้องการเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลสามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 1330 และสายด่วนโควิดของ 50 เขต