เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ซีดีซี" เผย ! การไม่ฉีดวัคซีน เพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ถึง 11 เท่า !


15 ก.ย. 2564, 14:24



"ซีดีซี" เผย ! การไม่ฉีดวัคซีน เพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ถึง 11 เท่า !




วันที่ 15 ก.ย. 64 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาเปิดเผยข้อมูลล่าสุดจากผลการศึกษา 3 ชิ้น ซึ่งชี้ตรงกันว่าผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโควิดสูงกว่าคนที่ฉีดถึงกว่า 11 เท่า

นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากการใช้งานจริงอีกชิ้นหนึ่งยังชี้ด้วยว่าวัคซีนโมเดอร์นามีประสิทธิภาพในการใช้งานจริงสูงที่สุดหากเปรียบเทียบกับไฟเซอร์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
หนึ่งในงานวิจัยที่ใช้อ้างอิงครั้งนี้ เกิดจากการติดตามข้อมูลของผู้ป่วยมากกว่า 6 แสนรายใน 13 รัฐของสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสกลายพันธุ์เดลตาทำให้ตัวเลขการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นฤดูร้อนของสหรัฐฯ

ผลการรวบรวมข้อมูลในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อนที่ผ่านมา พบว่าประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบโดส มีโอกาสในการล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลมากกว่าคนที่รับวัคซีนครบโดสแล้วกว่า 10 เท่า และยังมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า 11 เท่า โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาได้อ้างอิงจากผลการศึกษาถึง 3 ชิ้น ที่ช่วยยืนยันว่าวัคซีน 3 ตัวที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ยังคงมีประสิทธิภาพท่ามกลางการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา

ขณะที่งานวิจัยชิ้นที่ 2 แสดงให้เห็นว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ของโมเดอร์นามีประสิทธิภาพในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสูงกว่าวัคซีนจากไฟเซอร์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โดยผลการประเมินดังกล่าว ได้มาจากการเก็บข้อมูลการใช้งานจริงของวัคซีนทั้ง 3 ค่ายครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยมีการเก็บข้อมูลในสหรัฐฯ โดยเป็นข้อมูลจากผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวในโรงพยาบาล หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน และคลินิกจาก 9 รัฐในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงสิงหาคมที่ผ่านมา จำนวน 32,000 คน และในขณะที่วัคซีนทั้ง 3 ค่ายมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยเข้าโรงพยาบาลเฉลี่ย 86 เปอร์เซ็นต์ พบว่าวัคซีนจากโมเดอร์นามีประสิทธิภาพสูงสุดที่ 95 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพป้องกันการเข้าโรงพยาบาล 80 เปอร์เซ็นต์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 60 เปอร์เซ็นต์



ผลการศึกษาที่ออกมาก็สะท้อนถึงงานวิจัยขนาดเล็กอีกชิ้นหนึ่งของ มาโย คลินิก เฮลท์ ซิสเต็ม เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งชี้ว่า วัคซีนโมเดอร์นามีประสิทธิภาพที่สูงกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ในการป้องกันการติดเชื้อในช่วงการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา แต่ไม่ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะแตกต่างกันอย่างไร วัคซีนทุกตัวก็ล้วนแล้วแต่สามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี หน่วยงานสาธารณสุขของทุกประเทศจึงยังคงมุ่งเป้าให้ประชาชนฉีดวัคซีนให้มากที่สุด

การเปิดเผยผลวิจัยทั้งสามฉบับนี้ มีขึ้นหลังจากที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศใช้ข้อบังคับการฉีดวัคซีน เพื่อสกัดการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตาเพื่อหวังเพิ่มแรงกดดัน ให้ประชาชนชาวอเมริกันอีกหลายสิบล้านคนที่ยังต่อต้านไม่ยอมรับวัคซีน แม้ว่าจะมีชาวอเมริกันที่ต้องสังเวยชีวิตจากโควิด-19 ไปแล้วกว่า 650,000 ราย โดยคิดเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตราว 1,500 ศพ ในรอบ 8 วันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นยอดสูงสุดที่ไม่ได้เห็นมานานนับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยเชื้อกลายพันธุ์เดลตาได้กลายเป็นเชื้อที่กำลังระบาดเป็นวงกว้างคิดเป็นกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของการติดเชื้อในเวลานี้ทั้งหมด ทำให้เกิดความกังวลว่าวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคได้อีกต่อไป จนนำไปสู่การพิจารณาใช้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์จะเป็นวัคซีนตัวแรกที่สหรัฐฯ นำไปใช้ในการฉีดกระตุ้นให้ชาวอเมริกันหลังได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ และคาดว่าจะมีการอนุมัติใช้วัคซีนยี่ห้ออื่นๆ ตามมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

รายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาที่จัดลำดับประสิทธิภาพของวัคซีน โดยพิจารณาจากการป้องกันอาการป่วยรุนแรง และการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่าประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีนทั้ง 3 ตัว ในการป้องกันการเข้ารักษาตัวฉุกเฉินอยู่ที่ 82 เปอร์เซ็นต์ โดยประสิทธิภาพของผู้รับวัคซีนโมเดอร์นาอยู่ที่ 92 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยไฟเซอร์ 77 เปอร์เซ็นต์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 65 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแม้ว่ารายงานจากซีดีซีจะไม่ได้อธิบายรายละเอียดว่าทำไมวัคซีนโมเดอร์นาถึงมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่มีความเป็นไปได้ที่เกิดจากระยะห่างของการฉีดโดสแรกและโดสที่ 2 ที่โมเดอร์นาจะเว้นระยะห่าง 4 สัปดาห์ ขณะที่ไฟเซอร์จะฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์ ซึ่งนักวิจัยมองว่าระยะห่างที่มากกว่า 4 สัปดาห์ขึ้นไป จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า


ส่วนผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งของซีดีซีพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงหลังจากที่เชื้อเดลตาเข้ามาเป็นเชื้อหลัก โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่การป้องกันอาการป่วยรุนแรง และการเสียชีวิตยังคงมีประสิทธิภาพสูงอยู่ โดยการศึกษาชิ้นนี้เป็นการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยโควิด-19 อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนแล้ว มากกว่า 600,000 คน ทั้งที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และเสียชีวิต ตั้งแต่ช่วง 4 เมษายน จนถึง 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมาในพื้นที่ 13 รัฐ

ในรายงานยังประมาณการด้วยว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อในช่วงแรก ลดลงจาก 90 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ราว 80 เปอร์เซ็นต์ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกรกฎาคม หลังจากที่เชื้อเดลตาเข้ามากลบเชื้อกลายพันธุ์ตัวอื่นๆ แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลแทบจะไม่ลดลงเลยในช่วงดังกล่าว ซึ่งนักไวรัสวิทยาระบุว่า ประสิทธิภาพที่เหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ก็ยังเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ และในระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน จนถึง 17 กรกฎาคม มีคนที่ฉีดวัคซีนแล้วต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด คิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ และเสียชีวิตคิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นมาคร่าวๆ ราวสองเท่าจากช่วงฤดูใบไม้ผลิ

จากผลการศึกษาทั้งหมดที่ออกมา ยิ่งเป็นตัวย้ำเตือนให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานสาธารณสุข เช่นเดียวกับผู้นำสหรัฐฯ ควรจะเร่งนำข้อมูลอัปเดตล่าสุดที่เป็นการศึกษาข้อมูลในขณะที่มีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา เพื่อสนับสนุนคำพูดที่ว่า การฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากมายเพียงใด และให้ข้อเท็จจริงแก่ประชาชนว่า แม้เชื้อเดลตาจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของประสิทธิภาพวัคซีนลง แต่การฉีดวัคซีนก็ยังป้องกันการสูญเสียชีวิตได้ในระดับสูง เพราะทุกวันนี้ชาวอเมริกันยังคงยึดติดกับข้อมูลเดิม และผ่อนคลายความเข้มงวดในการป้องกันตัวเอง ทำให้ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติลดลงไป

ที่มา : วอชิงตันโพสต์ , ซีบีเอสนิวส์






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.