นายกฯ มุ่งมั่นขับเคลื่อนภาคพลังงานของไทย สู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
25 ก.ย. 2564, 09:42
วันที่ 25 กันยายน 2564 เวลา 04.00 น. (หรือวันที่ 24 กันยายน 2564 เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นครนิวยอร์ก) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีส่วนร่วมในการประชุมระดับผู้นำด้านพลังงาน (High-level Dialogue on Energy Summit 2021) ซึ่งจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสาระสำคัญในวีดิทัศน์ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี ดังนี้
การประชุมในวันนี้เป็นโอกาสที่ประเทศต่าง ๆ จะได้ร่วมกันพิจารณาแผนงานระดับโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดยเร่งรัดการดำเนินการตามเป้าหมายที่ 7 ของสหประชาชาติ ในเรื่องการประกันการเข้าถึงการบริการด้านพลังงานที่สะอาดและราคาที่จับต้องได้ มุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ และการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ไม่ให้เกิน 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานชาติมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำด้วยพลังงานสะอาด เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่มีสัดส่วนของพลังงานสะอาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และกำลังจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070
โดยนายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าเราควรร่วมมือกันวางรากฐานโลกยุคหลังโควิด – 19 โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ปรับพฤติกรรมที่สร้างสมดุลระหว่างมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม ซึ่งไทยได้ใช้แนวทางโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว “Bio-Circular-Green Economy” หรือ “BCG” ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อยอดความเข้มแข็งของไทยในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรม สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality รวมทั้ง ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ไทยมีนโยบาย 30@30 ส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ไทยจะต้องมีสัดส่วนการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าร้อยละ 30 จากการผลิตรถยนต์ทั้งหมด
ซึ่งในตอนท้ายนายกรัฐมนตรียืนยันความมุ่งมั่นของไทยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติและเป้าหมายความตกลงปารีสสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเกิดความมั่นคงทางพลังงานร่วมกันในอนาคต
อนึ่ง การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมระดับผู้นำด้านพลังงานครั้งแรกในรอบ 40 ปี ที่จัดภายใต้สมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งนอกจากประเด็นการดำเนินการด้านพลังงานแล้ว ยังให้ความสำคัญกับมิติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นโอกาสในการพิจารณาแผนงานระดับโลกสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ใน ค.ศ. 2030 เร่งรัดการเข้าถึงบริการด้านพลังงานสะอาด ตลอดจนเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อบรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (net-zero emissions) ใน ค.ศ. 2050