สธ. เผย! ข้อมูลวัคซีน "ไฟเซอร์" บนโลกออนไลน์เกินจริง ยันปลอดภัยกับเด็ก - ไม่เกี่ยวข้องกับ DNA ของมนุษย์
8 ต.ค. 2564, 15:44
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสการปฏิเสธฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ ในเด็กอายุ 12-18 ปี ว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 มีมาก แต่อยากให้เชื่อข้อมูลทางหลักวิทยาศาสตร์มากกว่า ทั้งผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ประเทศทางยุโรป สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สหรัฐอเมริกา และไทย ต่างก็แนะนำว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่ฉีดให้กับผู้อายุ 12 ปีขึ้นไป มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนที่เผยแพร่ให้เกิดความหวาดกลัว เป็นข้อมูลเกินความเป็นจริง เป็นการคาดการณ์ในอนาคตในเรื่องของการฉีดไฟเซอร์ว่า ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับ DNA ซึ่งจริงๆ แล้ววัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนชนิด RNA ดังนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับ DNA ของมนุษย์
ทั้งนี้ เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ในประเทศทางทวีปอเมริกาและยุโรปก็ฉีดวัคซีนไฟเซอร์กันทั้งนั้น แล้วก็ฉีดไปจำนวนมากแล้ว แต่สำหรับนักเรียนที่มีความกังวลใจในเรื่องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ก็ขอเน้นย้ำว่าไม่ได้เป็นการบังคับฉีดแต่อย่างใด แต่หากประสงค์รับวัคซีนในภายหลัง ก็สามารถติดต่อเพื่อขอรับวัคซีนได้โดยจะไม่ถูกตัดสิทธิแต่อย่างใด” นพ.โอภาส กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กนักเรียนที่ได้เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ขณะนี้ยังไม่พบอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดที่อันตรายร้ายแรง แต่ สธ.ก็คาดว่าเมื่อฉีดในปริมาณที่มากขึ้น อาจจะมีโอกาสพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเกิดขึ้นได้ ในส่วนนี้ สธ.ได้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว จึงขอให้มั่นใจว่าวัคซีนทุกตัวที่นำมาใช้ในประเทศไทย มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ