รวบตัว ! "แรงงานเมียนมา" ลักลอบเข้าชายแดนไทย หน่วยงานรัฐวุ่นไร้สถานที่กักตัว
15 ต.ค. 2564, 08:54
เมื่อเวลากลางดึกวันที่ 14 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ทหารชุดหน่วยเฉพาะกิจงอางศึก กองกำลังสุรสีห์ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ สนธิกำลังร่วมกับฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านเนินแก้ว และหมู่ 9 บ้าน กม.12 ต.อ่าวน้อย ผู้ช่วยใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ ชรบ. เจ้าหน้าที่ อส. จับกุมบุคคลต่างด้าวชาวเมียนมาร์ได้จำนวน 34 ราย เป็นชาย 10 ราย หญิง 24 ราย พร้อมสัมภาระเดินเท้าลักลอบหนีเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ โดยหลบซ่อนตัวอยู่ในสวนปาล์ม จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดสัมภาระ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในขณะจับกุมบุคคลต่างด้าวบางรายได้ยกมือประนมไหว้พร้อมกับท่องลักษณะสวดมนต์
จากการตรวจค้นอย่างละเอียดเจ้าหน้าที่พบยาบ้า 10 เม็ดบรรจุในหลอดพลาสติค พร้อมอุปกรณ์การเสพของแรงงานเมียนมาร์รายหนึ่ง อ้างว่าต้องใช้เสพระหว่างเดินทางจากบ้านหมูด่อง ตรงข้ามด่านสิงขร เพื่อรอนายหน้านำรถตู้มารับไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ทั้งนี้ขณะเจ้าหน้าที่สนธิกำลังจับกุมส่วนใหญ่ไม่ได้สวมชุด พีพีอี ที่ต้องปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง ระหว่างรอพนักงานสอบสวน สภ.อ่าวน้อย เดินทางไปควบคุมตัว ก่อนแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอตรวจหาเชื้อโควิด 19 แล้วจัดหาสถานที่เพื่อนำตัวไปกัก 14 วัน ก่อนผลักดันออกนอกประเทศตามขั้นตอน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายได้หารือ เพื่อนำตัวแรงงานเมียนมาร์ไปกักตัวที่ศูนย์คัดแยกและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ด้านหลัง สภ.เมืองประจวบฯ หรือ สถานที่กักตัวกองร้อย ตชด.ที่ 146 ต.คลองวาฬ ปัจจุบันมีแรงงานเมียนมาร์กักตัวจำนวนมากเกินพิกัด ในขณะเดียวกันมีรายงานว่า ในพื้นที่ชายแดนบ้านมะขามโพรง หมู่ 9 ผู้ใหญ่บ้านสามารถจับกุมชาวเมียนมาร์ได้เพิ่มเติมอีก 25 ราย
สำหรับบริเวณดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 – 4 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่หลายหน่วยจับกุมแรงงานเถื่อนจำนวน 58 คน เป็น ชาย 19 ราย หญิง 39 ราย อายุระหว่าง 18 ถึง 30 ปี พร้อมนายพิมล เลขานุกิจ อายุ 56 ปี คนขับรถตู้รับจ้างไม่ประจำทาง สีบรอนซ์-เงิน ทะเบียน 36-0036 นนทบุรี ทั้งหมดสารภาพว่าเดินทางมาจากหลายจังหวัดในประเทศเมียนมาร์ จากนั้นรวมตัวกันที่บ้านมูด่อง และเดินข้ามแดนมาฝั่งไทยเพื่อรอนายหน้ามารับ ส่วนหนึ่งอ้างว่าจะไปทำงานในโรงงานสับปะรดโรงงานที่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบฯ บางส่วนจะไปทำงานที่โรงงานปลากระป๋อง แพกุ้ง จ.สมุทรสาคร ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก๊งนายหน้าในการเดินทางถึงปลายทาง 16,000 -18,000 บาทต่อคน และต่อมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองประจวบฯจับกุมแรงงานเมียมาร์อีก 21 คนที่ช่องสิบศพ ต.เกาะหลัก
ด้านแหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงระดับสูง ระบุว่า ยังมีแรงงานเถื่อนในฝั่งเมียนมาร์อีกกว่า 1000 คน ที่รวมตัวรอเดินเท้าเข้าไทยอยู่จุดบริเวณบ้านมูด่องฝั่งเมียนมาร์ สังเกตุได้ส่วนใหญ่จะเป็นวัยนักศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ไปจนถึง 30 ปี เนื่องจากหลบหนีสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนในพม่าเรื่องความปลอดภัย โดยมีการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ในประเทศหัวละ 500 บาท ก่อนข้ามชายแดน ล่าสุดเจ้าหน้าที่ทหาร ตชด.เข้มงวดบริเวณช่องทางธรรมชาติจากสันแดนเข้ามาในประเทศระยะทาง 3 กิโลเมตร เพื่อผลักดันแรงงานเถื่อนออกนอกประเทศทันทีโดยไม่นำมากักตัว 14 วันก่อนดำเนินคดีและผลักดันกลับตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หลังจากทางการไทยจะนำแรงงานเถื่อนไปจดทะเบียนในระบบ และ มีรายงานทางการข่าวแจ้งว่าแรงงานเถื่อนที่เคยถูกจับกุมจำนวนมาก ต่อมาถูกผลักดันกลับ แต่พบว่ามีบางรายลักลอบเข้าไปทำงานในโรงงานสับปะรดแห่งหนึ่ง เนื่องจากโรงงานมีความต้องการแรงงานในสถานการณ์โควิด-19