แห่เล่นน้ำล้นสปิลเวย์อ่างห้วยเสนง ด้านผู้ว่าฯลงตรวจพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ขณะข้าวถูกน้ำท่วม 7 หมื่นไร่
20 ต.ค. 2564, 11:11
20 ต.ค. 64 จากผลพวงของพายุเตี้ยนหมู่และคมปาซุ ที่ลดความแรงลงเป็นร่องมรสุมพัดผ่านในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ที่ผ่านมา แม้ว่าจะผ่านไปแล้ว แต่ก็ทำให้เกิดฝนตกหนักและมีมวลน้ำไหลเข้ายังอ่างเก็บน้ำทั้ง 17 แห่งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์จำนวนมาก จนทำให้อ่างเก็บน้ำ 11 แห่ง จากทั้งหมด 17 แห่ง เต็มและบางอ่างเก็บน้ำมีมวลน้ำเกินกักเก็บจนล้นสปิลเวย์ ไหลล้นออกมา
โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำจนเกินความจุ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำที่ความจุ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นประมาณ 130 เปอร์เซ็นต์ และไหลล้นสปิลเวย์ออกมา ทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์น้ำตกหน้าสปิลเวย์ ชาวบ้านในพื้นที่และพื้นข้างเคียงที่ทราบข่าวต่างพาลูกหลานออกมาเที่ยวเล่นน้ำที่ไหลล้นสปิลเวย์ และถ่ายรูปกันเป็นจำนวนมาก นับเป็นปรากฏการณ์ในรอบหลายปีที่กลับมาอีกครั้ง ส่งผลทำให้ร้านค้าที่อยู่ด้านล่างอ่างฯมีลูกค้าเพิ่มขึ้น คาดว่าน้ำจะไหลล้นสปิลเวย์เพิ่มมากกว่านี้อีกใน 1-2 วันนี้ เป็นระยะเวลาประมาณ 4-5 วัน
นายสุวพงศ์ กิติภทรพิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำในบริเวณดังกล่าว โดยพบว่าน้ำได้เริ่มไหลล้นสปิลเวย์อย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งน้ำที่ไหลล้นสปิลเวย์ไม่เป็นอันตรายต่อผู้คนที่มาเที่ยวเล่น รวมทั้งพื้นที่ท้ายอ่างแต่อย่างใด โดยชลประทานสุรินทร์ ได้เปิดประตูระบายน้ำส่วนหนึ่งและจะปล่อยให้ไหลล้นอยู่ประมาณ 4-5 เซนติเมตรเท่านั้น ยังไม่มีปัญหาใดๆกับพื้นที่การเกษตร และเป็นผลดีให้ประชาชนได้มาเที่ยวชม
นายสุวพงศ์ กิติภัทรพิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในภาพรวมของจังหวัดสุรินทร์ ขณะนี้ความเดือดร้อนยังไม่มาก ในส่วนของตัวเมืองและเทศบาลแทบไม่มีเลย อาจจะมีน้ำระบายช้าบ้างไม่มากนัก ในส่วนของอำเภอรอบนอกที่รับแจ้งเช้ามาเช่น อำเภอท่าตูม ชุมพลบุรี และรัตนบุรี ซึ่งติดกับแม่น้ำมูล มีมวลน้ำเอ่อล้นเข้าท้วมพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน เท่าที่ติดตามสถานการณ์อาจไม่นาน เนื่องจากว่าน้ำที่ไหลงผ่านเริ่มลดลงบ้างแล้ว ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ก็ได้มีการกำชับตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ก่อนน้ำจะเพิ่มขึ้น โดย ปภ.จ.สุรินทร์ ได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทางอำเภอแจ้งเข้ามาก็ได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย หากเกิดปัญหาก็จะต้องชดเชย หรือเยี่ยวยาประชาชน หากใช้งบประมาณก็จะต้องบรรจุเข้าในส่วน กบจ. เพื่ออนุมัติเงินช่วยเหลือต่อไป ในส่วนของอ่างเก็บน้ำหลักๆในจังหวัดสุรินทร์ มีปริมาณน้ำเต็มความจุเกือบทั้งหมด และไม่น่ามีปัญหาในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ไปอีกปี ทั้งหมดยังบริหารจัดการได้ และจังหวัดได้มีการบริหารจัดการน้ำตามนโยบายรัฐบาล ในการที่จะกักเก็บน้ำที่ไหลหลากไปไว้ใช้ ทางจังหวัดได้เตรียมประสานจัดหาเครื่องสูบน้ำระยะไกล เพื่อทำการดึงน้ำเข้าไปเก็บยังหนองน้ำขนาดใหญ่ที่ยังมีน้ำอยู่น้อย เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ต่อไป
ด้านนายสมชาย อังศิริลาวัลย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุรินทร์ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักของจังหวัดสุรินทร์ทั้ง 17 แห่ง มีปริมาณน้ำเต็มความจุแล้ว 11 แห่ง ความจุที่187 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุทั้งหมด 145 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมประมาณ 108 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงที่มีปริมาณความจุที่ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำที่ความจุ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นประมาณ 130 เปอร์เซนต์ ส่วนการระบายน้ำมีการระบายน้ำออกในแต่ละวันประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และที่มีการชะลอการระบายน้ำลง เนื่องจากมวลน้ำที่ไหลมาจากนครราชสีมาที่แม่น้ำมูลกำลังไหลผ่านจังหวัดสุรินทร์ จึงทำการชะลอการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำลงสู่แม่น้ำมูลซึ่งจะไหลลงไปรวมกันที่อำเภอท่าตูม แต่ก็จะมีการปรับการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นในเร็วนี้จาก 1 ล้าน เป็น 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาระดับน้ำให้คงไว้ ซึ่งพื้นที่ที่อยู่ท้ายอ่างในขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
ในส่วนน้ำที่ไหลล้นสปลินเวย์ของอ่างฯเก็บน้ำ เป็นเรื่องปกติ ซึ่งทางโครงการชลประทานได้มีการบริหารจัดการน้ำต่อเนื่อง สืบเนื่องมาจากการลดการระบายน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำมูล โดยจะปล่อยให้ไหลล้นอยู่ประมาณ 4-5 เซนติเมตรเท่านั้น ยังไม่มีปัญหาใดๆ และจะเป็นผลดีให้ประชาชนได้มาเที่ยวชมอ่างห้วยเสนง ส่วนร้านค้าก็จะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็ขอให้ประชาชนที่มาเที่ยวเล่นน้ำ ได้ตระหนักโดยเฉพาะมาตรการป้องกันเฝ้าระวังโรคโควิด 19 ด้วย
นายสุวพงศ์ กิติภัทรพิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดสุรินทร์มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 17 อ่าง มีความจุทั้งหมด 145.89 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 158.169 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 108.42 ปริมาณน้ำเกินความจุร้อยละ 8.42 โดยอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำร้อยละ 81-100 จำนวน 4 อ่าง มีปริมาณน้ำร้อยละ 51-80 จำนวน 1 อ่าง มีปริมาณน้ำร้อยละ 31-50 จำนวน 1 อ่าง มีปริมาณน้ำต่ำกว่าร้อยละ 30 จำนวน 1 อ่าง อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าความจุ จำนวน 10 อ่าง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อ่างอำปึล อำเภอเมืองสุรินทร์ อ่างห้วยตาเกาว์ อำเภอกาบเชิง อ่างสุวรรณาภา อำเภอปราสาท อ่างเก็บน้ำบ้านทำนบ อ่างเก็บน้ำบ้านจรัส อำเภอบัวเชด อ่างเก็บน้ำห้วยกะเลงเวก อำเภอสังขะ อ่างลำพอก อำเภอศีขรภูมิ อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว อำเภอรัตนบุรี และอ่างห้วยระหาร อำเภอจอมพระ
ขณะที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุรินทร์ ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากอิทธิพลจากร่องความกดอากาศต่ำและพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” สถานการณ์แม่น้ำมูลล้นตลิ่ง ราษฎรได้รับผลกระทบ 11 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอชุมพลบุรี อำเภอจอมพระ อำเภอสำโรงทาบ อำเภอบัวเชด อำเภออำเภอสังขะ อำเภอท่าตูม อำเภอศรีณรงค์ อำเภอกาบเชิง อำเภอปราสาท อำเภอรัตนบุรี อำเภอพนมดงรัก พื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 61 ตำบล 474 หมู่บ้าน 19,475 ครัวเรือน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 19,765 คน ที่พักอาศัยได้รับความเสียหาย 552 หลัง นาข้าวได้รับความเสียหาย 74,571 ไร่ พืชไร่ พืชสวนเสียหาย 2,888 ไร่ ถนนเสียหาย 113 สาย
นอกจากนั้น ยังมีบ่อปลา โรงเรียน วัด คลอง สะพาน และท่อระบายน้ำ ได้รับความเสียหายอีกจำนวนมาก ส่วนอำเภอที่ยังไม่เกิดอุทกภัย จำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอศีขรภูมิ อำเภอสนม อำเภอลำดวน และอำเภอโนนนารายณ์