เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



อ.เจษฎา ไขกระจ่างภาพสิ่งมีชีวิตวุ้นใส เกยตื้นเต็มหาดหัวหิน ที่แท้เรียก "ตัว salp"


25 ต.ค. 2564, 15:45



อ.เจษฎา ไขกระจ่างภาพสิ่งมีชีวิตวุ้นใส เกยตื้นเต็มหาดหัวหิน ที่แท้เรียก "ตัว salp"




อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่าสุดได้ออกให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ทะเลแปลก ลักษณะตัวเป็นวุ้นใส เกยตื้นบนชายหาดหัวหิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งถูกนำภาพมาแชร์ตั้งคำถามในโลกสังคมออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย และมีคอมเม้นท์ให้ความเห็นไปต่าง ๆ นานา เช่น เป็นแมงกะพรุนแก้ว เป็นหวีวุ้น เป็นไข่ของแมงกะพรุน ฯลฯ 

แต่คำตอบที่ดูจะสอดคล้องกันมากที่สุด ในหลายๆ คอมเม้นท์ คือ บอกว่าน่าจะเป็น "ตัว salp ซาลป์"  ซึ่งสอดคล้องกับที่เพจ "เครือข่าย ทสม. ประจวบคีรีขันธ์" (ทสม. คือ อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม) ได้ออกมาโพสต์ให้ข้อมูล และเน้นว่า "เจ้าตัวนี้ไม่มีพิษมีภัย" 

เหตุการณ์ตัว salpเกยตื้นนี้ เกิดที่ชายหาดหัวหิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 โดยมีตัว salp ลอยมาเกยตื้นที่ชายหาดเป็นจำนวนหนึ่ง 
เพจ ทสม. ประจวบคีรีขันธ์ ระบุสาเหตุที่เกิดการเกยตื้นขึ้นว่า เกิดจากการปะทะกันของน้ำจืดและน้ำทะเล มวลน้ำไหลเข้ามาชนและเบียดกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยบริเวณที่เกิดบ่อยคือ บริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งจะเห็นแนวขอบเขตของการปะทะกันระหว่างน้ำจืดและน้ำทะเลได้



สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับตัว salp นั้น เรียบเรียงมาจากวิกิพีเดีย (https://en.m.wikipedia.org/wiki/Salp) ได้ดังนี้

ตัว ซาลป์ salp หรือตัว ซาลป้า salpa หรือบางทีเรียกว่า องุ่นทะเล sea grape (มีหลายสกุล โดยอยู่ในวงศ์ Salpidae ลำดับ Salpida) เป็นสัตว์ในกลุ่มเพรียงหัวหอม หรือทูนิเคต (tunicate) ที่มีรูปทรงคล้ายถังเบียร์ (barrel) มันเคลื่อนที่ด้วยการบีบตัว ปั๊มน้ำออกจากลำตัวที่เป็นวุ้นของมัน ซึ่งน้ำที่ถูกปั๊มป์ออกไปนี้จะผ่านตัวกรองอาหารภายในลำตัว กรองเอาพวกไฟโตแพลงก์ตอน (phytoplankton) มากิน 

ตัว salp พบได้ทั่วไป ทั้งในทะเลเขตเส้นศูนย์สูตร เขตอบอุ่น และเขตหนาว โดยมักจะพบอยู่ที่ผิวน้ำ ทั้งแบบเป็นตัวเดี่ยวๆ แล้วแบบที่เป็นโคโลนี ต่อเป็นสายยาวๆ นับเมตร แต่จุดที่พบพวกนี้มากที่สุด จะเป็นที่มหาสมุทรทางตอนใต้ ใกล้กับขั้วโลกใต้  ที่บางครั้งอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ยักษ์ มากกว่าฝูงพวกตัวคริล (krill สัตว์จำพวกกุ้งเคย) เสียอีก ตัว salp มีวงชีวิตที่ค่อนข้างซับซ้อน ส่วนใหญ่จะพบมันในสภาพของสัตว์ที่ดูคล้ายวุ้น รูปทรงกระบอก โปร่งแสง ยาว 1 ถึง 10 เซนติเมตร โดยบางช่วงเวลาของชีวิตมันจะอยู่เป็นตัวเดี่ยวๆ และเพิ่มจำนวนตัวลูกด้วยการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ กลายเป็นสายยาวนับสิบนับร้อยตัวต่อกัน  ลอยน้ำ หาอาหาร และเจริญเติบโตไปด้วยกัน


หลังจากนั้น ก็อาจจะมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเกิดขึ้นได้ โดยมีการสร้างตัวลูกที่เป็นเพศเมียขึ้น และถูกผสมพันธุ์โดยตัวที่อายุมากกว่า ก่อนที่จะหลุดแยกออกไปเป็นตัวเดี่ยวๆ อีกครั้งหนึ่ง ช่วงไหนที่ในทะเล มีพวกไฟโตแพลงค์ตอนเป็นจำนวนมาก ก็จะมีการบลูม (bloom) หรือการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วมากของตัว salp ตามไปด้วย เรียกได้ว่าเพิ่มอย่างรวดเร็วกว่าสัตว์หลายเซลล์ ทั้งหลายในโลกนี้ และกวาดกินพวก phytoplankton จนเกลี้ยง และทำให้ชายหาดเต็มไปด้วยคราบลื่นๆ ของตัว salp ที่คลุมอยู่ทั่วพื้น

เมื่อกินพวกไฟโตแพลงก์ตอนเข้าไปมากๆ มันจะกลายเป็นก้อน และจมลงพื้นทะเล นำเอาธาตุคาร์บอนลงไปด้วย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการช่วยตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ที่เป็นก๊าซเรือนกระจก) ในชั้นบรรยากาศโลกนี้ ส่งสู่พื้นก้นทะเล ในทางอ้อม
 
ดังนั้น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องจำนวน ความหนาแน่น และการกระจายพันธุ์ของพวกมันแต่ส่งรุนแรง ก็อาจส่งผลกระทบต่อวัฏจักรคาร์บอน (carbon cycle) ของมหาสมุทร ไปจนถึงเรื่องภาวะโลกร้อนได้ 

แม้ว่าตัว salp จะดูหน้าตาเหมือนกับพวกแมงกระพรุน จากรูปทรงที่ดูธรรมดาๆ และพฤติกรรมการเป็นแพลงค์ตอนลอยตามน้ำ แต่พวกมันเป็นสัตว์กลุ่มคอร์เดต (chordate) ที่มีแนวเส้นประสาทสันหลัง และเป็นญาติใกล้ชิดกับพวกสัตว์มีกระดูกสันหลังอย่างเรา มีการพบพวกปลาตัวเล็กๆ ที่สามารถเข้าไปว่ายน้ำอยู่ในตัวซาลป์ได้ โดยใช้เยื่อหุ้มใสๆ ของพวกมันนั้น มาเป็นเครื่องป้องกันตัวจากสัตว์ผู้ล่า แม้ว่าตัว salp จะไม่สามารถนำมาประกอบอาหารของมนุษย์ได้ แต่บางครั้ง พบว่าในช่วงที่พวกตัว salp กำลังบลูมมากๆ นั้น ปะการังในกลุ่มปะการังเห็ด  (mushroom coral) โดยเฉพาะในสกุล เฮทเทอรอปแซมเนีย  (Heteropsammia) จะกินตัว salp เป็นอาหารได้

ขอบคุณภาพจาก : FB Worawarun Tippayawan






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.