"ผู้ว่าฯกาญจน์" ประกาศ ! 7 มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
1 ธ.ค. 2564, 16:38
วันนี้ 1 ธ.ค.64 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี และผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดกาญจนบุรี ลงนามในประกาศคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 5477/2564 เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 COVID - 19) จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ประกอบกับคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 5116/2564ลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2564 เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 นั้น
โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทย ในห้วงเวลาที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 จึงมีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 22/2564 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 ได้กำหนดให้จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว
ดังนั้น จังหวัดกาญจนบุรี จึงยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ที่ 5116/2564 ลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2564 เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 และ 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และข้อ 7 (1) ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 และข้อ 8 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2563 (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2564 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2564 และ (ฉบับที่ 39) ลงวันที่ 30 พฤศจิกายนพ.ศ.2564
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดกาญจนบุรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชน และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ดังนี้
ข้อ 1 ข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอย่างถูกวิธีตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะยังคงเป็นข้อปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่สำคัญเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่หรือรับเชื้อ เมื่อพบผู้ไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือนและสั่งให้ผู้นั้นปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตามให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต่อไป
ข้อ 2 ให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ตรวจสอบดูแลการดำเนินการจัดกิจกรรม และข้อกำหนดในการงด หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ที่ รับผิดชอบ พร้อมทั้งให้ความเห็นกรณีมีกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีทราบด้วย
ข้อ 3 การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวสามารถทำได้ตามความเหมาะสม โดยปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร(Covid Free Setting)
ข้อ 4 ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ตามเวลาปกติ โดยอนุญาตให้มีการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ในระดับ SHA ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หรือตามมาตรฐานความปลอดภัยป้องกันโรค COVD - 19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid Plus) ของกรมอนามัยไม่เกินเวลา 23.00 น.
ข้อ 5 สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ทั่วราชอาณาจักร ยังคงมีความจำเป็นให้ปิดดำเนินการไว้ก่อน โดยให้หน่วยงานและผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่อนคลายการเปิดสถานประกอบกิจการได้ตามแผนและกรอบเวลาที่รัฐบาลจะประกาศกำหนดต่อไป
ข้อ 6 มาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างทั่วราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ในกลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่อื่นนอกจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี พิจารณามาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มาใช้บังคับให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่และลักษณะของพื้นที่ หรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร สถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับแรงงาน งานก่อสร้าง และการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน ในกลุ่มแรงงานก่อสร้างในพื้นที่ความรับผิดชอบด้วย
ข้อ 7 มาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบกิจการหรือโรงงานทั่วราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ดำเนินการตรวจสอบกำกับดูแล ประเมินผลการปฏิบัติ และให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบกิจการหรือโรงงานในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติด้านสาธารณสุขของสถานประกอบกิจการหรือโรงงานและมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 ตามหลักเกณฑ์ และแนวทางที่ราชการกำหนด
หากมีกรณีเกิดการแพร่ระบาดขึ้นในสถานประกอบกิจการหรือโรงงาน ให้ผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบในสถานประกอบกิจการหรือโรงงานดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ซึ่งต้องมีการปรับระดับความเข้มข้นของมาตรการ ทั้งนี้ ยังคงให้สถานประกอบกิจการหรือโรงงานดำเนินกิจการต่อไป ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด มีมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route)
มีการบริหารจัดการในการแยกผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อและกลุ่มเปราะบาง มีบริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุข รวมทั้งมีการจัดเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด การดำเนินการของสถานประกอบ กิจการหรือโรงงานตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) ดังกล่าว ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติที่ ศปก.ศบค. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยให้มีการกำกับ ติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง