"นักวิจัยฮ่องกง" เผย ! โอไมครอนแพร่เชื้อได้เร็วกว่าเดลต้า 70 เท่า ในเนื้อเยื่อหลอดลม
16 ธ.ค. 2564, 10:43
จากกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ในชณะนี้ ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนที่ปรากฏตัวขึ้นในเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา โดยผลศึกษาในห้องปฏิบัติการของฮ่องกง พบว่าโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนี้ สามารถแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า 70 เท่าในเนื้อเยื่อหลอดลม แต่แพร่ช้ากว่า 10 เท่า เมื่อเป็นเนื้อเยื่อปอด ทั้งนี้ ทีมวิจัยเน้นย้ำมาว่า อัตราการแพร่เชื้อไม่สามารถบอกระดับความรุนแรงของโรคได้ 100%
โดยทางทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงได้นำตัวอย่างเนื้อเยื่อหลอดลมและเนื้อเยื่อปอดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนออกมาศึกษาโดยเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์ดั้งเดิม พบว่า โอไมครอนมีการแบ่งตัวเร็วกว่าทั้ง 2 สายพันธุ์ประมาณ 70 เท่า บริเวณเนื้อเยื่อหลอดลม แต่ต่ำกว่า 10 เท่าในเนื้อเยื่อปอด ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้
แม้จะพอเบาใจได้ว่าตัวแปรใหม่นี้จะไม่โจมตีปอดรวดเร็วเท่าสายพันธุ์เดลต้า แต่ไมเคิล ชาน ชีเว่ย หัวหน้าทีมวิจัยย้ำว่า ผลการศึกษานี้ต้องตีความอย่างระมัดระวัง เพราะระดับความรุนแรงของโรคไม่ได้วัดจากความรวดเร็วในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเท่านั้น แต่จำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ อย่างการตอบสนองของภูมิคุ้มกันแต่ละคนร่วมด้วย
ถึงแม้ว่าความรวดเร็วในการแพร่กระจายของเชื้อโควิดจะไม่สามารถบอกความรุนแรงของโรคได้ 100% แต่ไมเคิลยังกังวลว่า ความสามารถในการแพร่เชื้อของมันอาจไปกระตุ้นให้โรคประจำตัวของกลุ่มบอบบางกำเริบขึ้นมา และเป็นสาเหตุที่นำมาสู่การเสียชีวิต นอกจากนี้ ถ้าโอไมครอนยังแพร่เชื้อในหลอดลมได้เร็วขึ้น 70 เท่า ขณะที่แพร่เชื้อในปอดช้าลง 10 เท่า ก็ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงขึ้น 7 เท่าอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับผลการศึกษาอีกตัวที่ชี้ให้เห็นว่าโอไมครอนสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน รวมถึงภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อในอดีตได้ในระดับหนึ่ง
จนถึงตอนนี้จะไม่สามารถตอบคำถามได้ชัดเจนว่าโอไมครอนจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นหรือไม่ แต่ผลการศึกษาที่พบว่าโอไมครอนแพร่เชื้อเร็วกว่าเดลต้า (บริเวณเนื้อเยื่อหลอดลม) นั้นสอดคล้องกับสถานการณ์ระบาดปัจจุบัน ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าตัวแปรใหม่นี้แพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว
ทางด้านซาจิด จาวิด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษก็เอ่ยปากว่า ไม่เคยพบการระบาดของสายพันธุ์ไหนรวดเร็วเท่าโอไมครอนมาก่อน และกังวลว่าตัวแปรใหม่นี้จะแย่งชิงสัดส่วนการระบาดจากเดลต้า และกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในลอนดอนภายในไม่ถึง 48 ชั่วโมง
ในขณะที่นายเจเรมี่ คามิล ศาสตราจารย์ร่วมด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยรัฐลุยเซียน่า เฮลท์ ชรีฟพอร์ต กล่าวว่ าไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้นที่ทำให้เกิดโรคที่มากขึ้น ก็พบว่ามีรูปแบบการแบ่งตัวของไวรัสที่ช้าลงเมื่ออยู่ในบริเวณปอดเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามการที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้มีการแบ่งตัวในอัตราที่สูงในหลอดลมดังกล่าวนั้น ก็คือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไวรัสนี้มีศักยภาพสูงมากในการแพร่เชื้อระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์
ที่มา : theguardian