นายกฯ ปลื้ม! "UNESCO" ประกาศขึ้นทะเบียน "โนรา" เป็นมรดกโลกด้านภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
16 ธ.ค. 2564, 15:40
วันนี้ (16 ธันวาคม 2564) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับทราบว่า ‘โนรา’ (Nora) หรือ ‘มโนราห์’ ศาสตร์การรำของไทย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลกด้านภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)
โดยนายกฯ ยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่วัฒนธรรมของไทยที่มีความโดดเด่นได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แสดงให้เห็นว่าศิลปวัฒนธรรมไทยที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ สวยงาม และเป็นที่น่าชื่นชม ทั้งนี้ รัฐบาลกำหนดนโยบายการสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนทางมรดกทางวัฒนธรรม สร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งให้กับการนำเสนอด้านซอฟต์พาวเวอร์ของไทย รวมทั้งจะเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ตลอดจนสามารถต่อยอดไปสู่การส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศ
ธนกรกล่าวต่อไปว่า UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโนรา (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านทางภาคใต้ของไทย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2021 จากมติที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 16 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยโนรามีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ 5 ข้อของการขึ้นทะเบียน ได้แก่
1. มรดกสอดคล้องกับลักษณะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามที่นิยามไว้ในอนุสัญญาฯ มาตรา 2
2. สามารถส่งเสริมความประจักษ์และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก และแสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ
3. มาตรการสงวนรักษาได้รับการพิจาณาอย่างรอบคอบเพื่อปกป้องและส่งเสริมมรดกนั้น
4. ชุมชน กลุ่มคน และปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการนำเสนอ
5. อยู่ในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศผู้นำเสนอ
นอกจากนี้ UNESCO ยังระบุเพิ่มเติมว่า โนราถือเป็นแนวปฏิบัติของชุมชนที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและสังคมอย่างลึกซึ้งสำหรับคนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีอายุกว่า 500 ปี ผ่านการแสดงรำที่ใช้ภาษาถิ่น ดนตรี และวรรณกรรม เพื่อเสริมสร้างชีวิตทางวัฒนธรรมและความผูกพันทางสังคมในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งได้รับการเผยแพร่และสานต่อในชุมชน งานวัด และกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ และถ่ายทอดผ่านการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญในชุมชนและสถาบันการศึกษา ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนดังกล่าวส่งผลให้ปัจจุบันไทยมีมรดกโลกด้านภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแล้วทั้งหมด 3 ชิ้น ได้แก่ 1. โขน 2. นวดไทย 3. รำโนรา
“นับเป็นความยินดีที่วัฒนธรรมไทยจะสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ และสามารถดึงดูดให้ทั้งชาวต่างชาติและคนไทยด้วยกันหันมาสนใจศิลปวัฒนธรรมไทยมากขึ้น รวมทั้งยังช่วยสืบสานอนุรักษ์โนรา การแสดงสำคัญของชาวใต้ยังคงอยู่ และได้รับการต่อยอดอย่างสร้างสรรค์แพร่หลาย รวมถึงมรดกของชาติอื่นๆ ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการขึ้นทะเบียนโนรา การแสดงที่ชาวใต้ภูมิใจ จะส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคใต้ผ่านการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และมีส่วนสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคใต้ต่อไป” ธนกรกล่าว