บอร์ดบีโอไอ เคาะขยายมาตรการกระตุ้นลงทุน-ระยะเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุน EEC
20 ธ.ค. 2564, 20:45
วันนี้ ( 20 ธ.ค.64 ) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งที่ 5/2564 โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย บีโอไอ รายงานผลการดำเนินการมาตรการกระตุ้นการลงทุน ปี 2564 ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤศจิกายน มีการยื่นคำขอ 69 โครงการ เงินลงทุน 284,000 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี กำชับทุกหน่วยงานเตรียมหาแนวทางดึงดูดนักลงทุนให้ มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ให้ประชาชนและสังคมมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการ นายกรัฐมนตรียังพอใจต่อกรณีที่จะมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยและสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ต้องเตรียมมาตรการกระตุ้นการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ New S-curve จริงจัง รวมถึง Cloud Service และ Data Center ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนปลายน้ำ และ Start up ให้พร้อม เพื่อให้ไทยสามารถแช่งขันได้กับต่างประเทศภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นายกรัฐมนตรียังย้ำนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการประกอบธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG โดยให้ BOI เน้นดึงผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต รวมทั้งให้ศึกษาสิทธิประโยชน์เข้ามาส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมจากมาตรการภาษี โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกและการพัฒนาประเทศเพื่อดึงดูดนังลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการลงทุนปี 2565 ครอบคลุมกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (A1, A2 และ A3) และต้องเป็นโครงการที่มีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ตั้งแต่วันทำการแรกของปี 2565 ถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565
เห็นชอบขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จนถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565 ยกเว้นโครงการที่ตั้งในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd) และการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) (EECg) สามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการนี้ได้โดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในการยื่นคำขอ โดยภายใต้มาตรการอีอีซี โครงการลงทุนในพื้นที่อีอีซี สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์พื้นฐานได้ใน 2 กรณี คือ เกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเกณฑ์ที่ตั้ง โดยสามารถเลือกดำเนินการทั้งสองเกณฑ์ควบคู่กันเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสูงสุด หรือเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งก็ได้
ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้พื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ตามประกาศของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นที่ศูนย์กลางนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันหรือหน่วยงานของภาครัฐ
เห็นชอบให้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) และอาคารศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประยุกต์สู่ SMEs สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ณ เทคโนธานี เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการวิจัย เช่น การผลิตชิ้นส่วนระบบราง การผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าหรือยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมและบริการเพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ อุตสาหกรรมชีวภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ คือ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี หรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 2 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการ