เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"นายกฯ" กำชับทุกหน่วยงานรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง เตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรช่วงฤดูแล้ง


12 มี.ค. 2565, 10:48



"นายกฯ" กำชับทุกหน่วยงานรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง เตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรช่วงฤดูแล้ง




วันนี้(12 มี.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 65 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนโดยเฉพาะภาคการเกษตรที่จะได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่เข้าสู่ฤดูร้อนต่อเนื่องถึงฤดูแล้ง จึงได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง เตรียมมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2565 กำชับให้วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ศักยภาพน้ำ ความเหมาะสมของพื้นที่ พร้อมให้เร่งรณรงค์สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในทุกด้านให้กับเกษตรกรและแจ้งเตือนเกษตรกรทราบทุกระยะ



นายกรัฐมนตรียังกำชับให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน และพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่จำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน ให้มีการควบคุมต้นทุนราคาสินค้าเกษตร สินค้าจำเป็น ทั้งผักสด เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่อย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้หลายรายการมีปัญหาผลผลิตขาดแคลน และราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง โดยขอให้ลงพื้นที่ไปสำรวจแหล่งผลิต แหล่งเลี้ยง เพื่อตรวจสอบแนวโน้มผลผลิตที่สะท้อนความเป็นจริง เพื่อเตรียมการรับมือได้ล่วงหน้า


นายธนกรกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันภาครัฐยังเตรียมการในเรื่องการเตรียมพร้อมแหล่งน้ำต้นทุนรองรับการผลิตน้ำอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง โดยเมื่อ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) บูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยได้ทำ MOU ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เตรียมความพร้อมในการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนไว้รองรับสำหรับการผลิตน้ำสะอาดสนับสนุนการอุปโภคและบริโภค ให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง

"จากข้อมูลสถานการณ์น้ำของไทยในปี 2564 มีฝนตกชุกและปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่ฝนตกในพื้นที่ใต้เขื่อน ซึ่งไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่รองรับน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย อาจส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งท่านนายกฯ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำให้ทุกกระทรวงและส่วนที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อให้สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการดำรงชีพของประชาชนน้อยที่สุด" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.