นายกฯ กำชับชี้แจงประชาชนเข้าใจ เข้าถึงสิทธิ UCEP Plus อย่างเป็นธรรม พร้อมให้บริการ 16 มี.ค. 65
16 มี.ค. 2565, 14:41
วันนี้(16 มี.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ 16 มีนาคม 2565 จะเป็นวันแรก ในการเปิดบริการการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หรือ UCEP Plus หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีผู้ป่วยโควิด 19 แบบ UCEP Plus โดยผู้ติดเชื้ออาการสีเหลืองและสีแดง สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ทุกแห่งจนหายป่วย ไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการรุนแรงขึ้นจำเป็นต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นในเครือข่ายจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากผู้ป่วยหรือญาติประสงค์จะไปรักษาที่โรงพยาบาลนอกเครือข่าย จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ส่วนผู้ป่วยอาการสีเขียวจะให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นโดยใช้สิทธิ UCEP Plus ได้เช่นกัน ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรีฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับทุกส่วนราชการที่เกื่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชน รวมไปถึงหน่วยบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าใจ และเข้าถึงสิทธิ UCEP Plus อย่างเป็นธรรม
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉ์นแห่งชาติ (สพฉ.)ได้จัดทำเกณฑ์การประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคโควิด 19 (UCEP Plus) ไว้ตามอาการต่าง ๆ โดยผู้ป่วยที่ตรวจ ATK หรือ RT-PCR มีผลเป็นบวก ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น 1) ภาวะหัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า 2) มีอาการไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส มากกว่า 24 ชั่วโมง หรือหายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ หรือออกซิเจนในเลือดเมื่อแรกรับน้อยกว่า 94% หรือมีระดับออกซิเจนลดต่ำลงกว่าภาวะปกติ 3% เมื่อออกแรง หรือโรคประจำตัวเปลี่ยนแปลงรุนแรง หรือผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงตามดุลยพินิจของแพทย์ 3) มีอาการอื่นร่วมด้วย คือ เหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือตามดุลยพินิจของผู้คัดแยก โดยการใช้สิทธิ สามารถโทรแจ้ง 1669 โรงพยาบาลจะประเมินอาการและรักษาเบื้องต้น และกรอกรายละเอียดอาการผ่านโปรแกรม PA ของ สพฉ. หากเข้าเกณฑ์ UCEP Plus จะสามารถใช้สิทธิได้ทันที ทั้งนี้ สพฉ.ได้เตรียมศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หมายเลข 02-872-1669 เพื่อให้คำปรึกษากรณีมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาในการใช้สิทธิ์
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ รวม 23,945 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 23,897 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 48 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,027,207 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 23,339 ราย หายป่วยสะสม 836,258 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 221,972 ราย เสียชีวิต 70 ราย ขณะที่รายงานภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 สรุปจำนวนผู้ที่ได้รับได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่ 28 ก.พ. 2564 - 15 มี.ค. 2565 (18.15 น.) รวมฉีดสะสมอยู่ที่ 126,511,688 โดส เข็มที่ 1 ฉีดสะสม 54,547,213 โดส เข็มที่ 2 ฉีดสะสม 50,013,350 โดส เข็มที่ 3 ฉีดสะสม 20,054,528 โดส และเข็มที่ 4 ฉีดสะสม 1,896,597 โดส