"นักสังคมสงเคราะห์" ชื่นชม! "ปุ้มปุ้ย-กวินท์" เคารพสิทธิลูก ของพ่อแม่ยุคใหม่ มีความเข้าใจลึกซึ้ง !
26 มี.ค. 2565, 14:14
เรียกได้ว่ากลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมจับตามองอยู่ในขณะนี้ เกี่ยวกับกรณีที่ชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นด่าทอ ภรรยาของหนุ่ม “กวินท์ ดูวาล” และลูกชายคนแรก “ไซอัลบลู สกาย ดูวาล” ด้วยถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรง จนเป็นเหตุให้คุณแม่ลูกอ่อนต้องออกมาฟาดกลับด้วยการโพสต์แคปชั่นสั้นๆ ว่า "อย่าลบ จะเอาให้ร้องขอชีวิตเลยค่ะ" จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมากทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
และจากกรณีนี้ ล่าสุดทางด้านของทนายความชื่อดัง นิด้า-ศรันยา หวังสุขเจริญ หรือ ทนายนิด้า ก็ได้ใช้พื้นที่บนแฟนเพจเฟซบุ๊ก @nidalawyer โพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า "สังคมไทยคนขี้เสื-กเยอะถึงขนาดว่าต้องมาพิมพ์ด่าปุ้ย พรรณทิพา Pantipa.a ในเรื่องการเลี้ยงลูกของเขาเลยหรอ ทั้งที่ก็เป็นสิทธิ์โดยแท้ของเขา และเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่นั่นยังไม่เท่ากับด่าพาลไปถึงเด็กไร้เดียงสา ว่าปากแหว่งแน่หละ หน้าตาอัปลักษณ์มั่งหละ เป็นเอ๋อมั่งหละ จิตใจคนที่พิมพ์แบบนั้นได้แสนชั่วช้า พาลอยากไปเห็นวงจรการเติบโตของคนแบบนั้นมา จนสามารถเล่นอินเตอร์เน็ตเป็นมากๆ ว่าผ่านอะไรมาบ้างถึงได้ต่ำตมกับเด็กได้ถึงเพียงนี้ เสื-กถึงขั้นละเมิดต่อเด็กขนาดนี้ก็ไม่ไหว ประเทศจะเอาอะไรไปเจริญกับเรื่องต้องมารุมด่าแม่ด่าเด็กเพียงเพราะแค่อยากเห็นว่าเด็กเขามีหน้าตาเป็นอย่างไร รู้หรือยังอาชีพทนายทำไมถึงรวย!! #ทนายนิด้า #ทนายหญิงสายลุย"
ในขณะที่ ปุ้มปุ้ย พรรรณทิพา ก็ได้นำเอาโพสต์ดังกล่าวนี้มาแชร์ลงบนช่องทางโซเชียลฯ พร้อมกับระบุแคปชั่นว่า "ได้ค่าเทอมอีกละ" โดยมีแฟนคลับเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นและให้กำลังใจกันอย่างต่อเนื่อง
ทางด้านเพจเฟซบุ๊ก นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ขอชื่นชม ครอบครัวของคุณปุ้มปุ้ยและคุณกวินท์มากค่ะ ในฐานะของนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานคุ้มครองเด็ก นี่คือ “ต้นแบบ” ที่น่าชื่นชมของการเป็นพ่อแม่ยุคใหม่ ที่เราอยากรณรงค์ให้ทุกคนเข้าใจเรื่อง “สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของลูก” แม้เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยที่อาจจะเคยชินกับการมองเด็กเป็น “สมบัติ” ของพ่อแม่ หรืออำนาจของพ่อแม่ที่ “เหนือ” กว่าเด็ก และยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเด็กมากนัก
สำหรับเรื่องนี้สิ่งที่คุณปุ้มปุ้ยและคุณกวินท์ตัดสินใจไม่ใช่เรื่องของ ความกระแดะ เรื่องของการทำลูกให้เป็นเทวดา อะไรทั้งนั้น แต่ความลึกซึ้งของเรื่องนี้คือ
1.การตัดสินใจนี้อยู่บนฐานของการ “เคารพเด็ก” คือการตระหนักว่า เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถบอกความรู้สึกได้ ว่าเขาอยากมีรูปหน้าตา หรือแบ่งปันห้วงเวลาส่วนตัวกับมนุษย์คนอื่นนอกครอบครัวของเขาหรือไม่ และในกรณีที่เขายังบอกไม่ได้ การปกป้องและเคารพเขาที่ดีที่สุดคือ การไม่นำเอาชีวิตส่วนตัวเขามาแบ่งปันกับสาธารณะในขณะที่เขายังบอกความรู้สึก หรืออนุญาตไม่ได้
2.สิ่งสำคัญจากตรงนี้คือ การปฏิบัติเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์และการสื่อสารสำคัญที่พ่อแม่จะให้เด็กเรียนรู้ว่า “เขาคือเจ้าของชีวิตตนเอง” “เขาคือผู้มีสิทธิขาดเหนือเนื้อตัวร่างกายตนเอง” ที่คือการแสดงความเคารพต่อลูก และเป็นการแสดงความรักที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
3.การงดถ่ายรูปลูกลงสื่อสังคมออนไลน์เพื่อแบ่งปันตลอดเวลาหรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Sharenting (Sharing + parenting) คือการเคารพในหลักการ “สิทธิที่จะถูกลืม” (right to be forgotten) ซึ่งเป็นการตระหนักว่า เมื่อใดก็ตามที่เราโพสต์รูปลูก ไม่ว่าขณะใดก็ตามในโลกออนไลน์ รูปของลูกเรา ใบหน้าของเขา อากัปกริยาที่ถูกถ่ายไป จะถูกบันทึกในโลกออนไลน์ตลอดการ มันจะถูกแบ่งปันไปอย่างมหาศาลจนไม่มีใครสามารถควบคุมได้ และไม่สามารถรู้วัตถุประสงค์ว่าใครจะเอารูปลูกเราไปทำอะไร แบบไหนได้เลย
ดังนั้นนี่จึงเป็น “ต้นแบบ” ของพ่อแม่ยุคใหม่ ที่อยากให้ทุกคนได้ตระหนักและเรียนรู้ผ่านกรณีของครอบครัวนี้ค่ะ