ไทยส่งเสริม 5 ความเชื่อมโยง เร่งฟื้นเศรษฐกิจ สร้างเครือข่ายประชาชน-ภาคธุรกิจ
30 มี.ค. 2565, 14:51
วันนี้ ( 30 มี.ค.65 ) เวลาประมาณ 10.35 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นโดยศรีลังกา ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิก BIMSTEC โดยในการประชุมครั้งนี้ทุกประเทศจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม ซึ่ง นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกาประธานจัดการประชุม กล่าวเปิดการประชุมระบุว่า เชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของบิมสเทค จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรค และความท้าทายในโลกร่วมกัน บิมสเทคซึ่งมี ขนาดประชากร 1 ใน 5 ของประชากรโลก ได้ขยายความร่วมมืออย่างสำคัญ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้มีเศรษฐกิจ และสาธารณสุข ที่เข้มแข็งมากขึ้น สะท้อนได้จากหัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้ “BIMSTEC- Towards a Resilient Region, Prosperous Economies, Healthy Peoples” หรือ “บิมสเทค มุ่งหน้าสู่อนุภูมิภาคที่ยืดหยุ่น มั่งคั่ง และประชาชนมีสุขภาพดี” โดยในวันนี้ จะมีการลงนามกฎบัตร ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ ในการเสริมสร้างบทบาทขับเคลื่อนภูมิภาค
การเดินเรือชายฝั่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคจึงต้องร่วมมือกัน ต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมทั้งศรีลังกายินดีส่งเสริม และเชื่อมั่นว่าบิมสเทคสามารถขับเคลื่อนการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ ยินดีร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้ง เห็นควรส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมมาตรการทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว ส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน อีกทั้งต้องร่วมมือกันจัดการภัยพิบัติเพื่อเตรียมรับมือในอนาคต โดยศรีลังกามีกรอบแนวทางที่เน้นย้ำความยั่งยืน การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า บิมสเทคจะบรรลุเป้าหมายสะท้อนเสียงของสมาชิกในเวทีโลก จึงขอให้ร่วมมือกันเพื่อประชาชนและประเทศของพวกเรา
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมว่าบิมสเทค ถือเป็นกรอบอนุภูมิภาคเดียวที่เชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเอเชียใต้ ซึ่งช่วงเวลาจากการประชุมครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา สถานการณ์โลกมีความผันผวนทำให้การดำเนินงานยังไม่คืบหน้ามากนัก นายกรัฐมนตรีจึงได้ย้ำถึงความสำคัญในการประชุมครั้งที่ 5 ในวันนี้ เพื่อทบทวนการทำงานร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยในช่วงที่ไทยจะทำหน้าที่เป็นประธานบิมสเทค ตรงกับช่วงเวลาที่ไทยเป็นประธานเอเปค วาระปี ค.ศ. 2022 ไทยพร้อมส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีคุณภาพ โดยนำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของทุกประเทศมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งสองภูมิภาค ตามความต้องการ และบริบทของแต่ละกรอบความร่วมมือด้วย
การประชุมวันนี้เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของบิมสเทค ทุกประเทศสมาชิกเห็นชอบและลงนามในกฎบัตรบิมสเทค และเอกสารสำคัญอื่น ๆ เพื่อเดินหน้าความร่วมมือต่อไปอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ไทยเห็นว่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกยังมีศักยภาพอีกมาก ความเชื่อมโยงระหว่างกันจึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้นำสาขาความเชื่อมโยงมุ่งมั่นจะผลักดันปความเชื่อมโยงในสาขาต่อไปนี้
1. ความเชื่อมโยงทางบก ขอบคุณประเทศสมาชิกที่สนับสนุนข้อเสนอของไทย ในการจัดทำแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม (BIMSTEC Master Plan on Transport Connectivity) จนบรรลุผลสำเร็จ พร้อมหวังว่าจะร่วมกันผลักดันให้โครงการสำคัญต่าง ๆ (Flagship projects) ภายใต้แผนแม่บทฯ นี้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อไป
2. ความเชื่อมโยงทางทะเล นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดกระบวนการเพื่อให้สามารถลงนามร่างความตกลงการเดินเรือตามชายฝั่ง (BIMSTEC Coastal Shipping Agreement) ให้แล้วเสร็จ เพื่อความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือของประเทศรอบอ่าวเบงกอลอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ความเชื่อมโยงด้านพลังงาน นายกรัฐมนตรีเสนอให้เร่งรัดการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าภายใต้บิมสเทค (Memorandum of Understanding for Establishment of the BIMSTEC Grid Interconnection)
4. ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล นายกรัฐมนตรีเห็นควรส่งเสริมความเชื่อมโยงผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยี และ
5. ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน “คน” เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ให้ยั่งยืนและสมดุล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนสาขาความร่วมมือ และทำให้บิมสเทคเป็นประชาคมของทุกคนอย่างแท้จริง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความพร้อมของไทยที่จะสานต่อความสำเร็จของศรีลังกา โดยได้เสนอวิสัยทัศน์ในช่วงที่ไทยเป็นประธาน ภายใต้หัวข้อหลัก (theme) “Prosperous, Resilient and Robust, and Open BIMSTEC” หรือ โปรบิมสเทค (PRO BIMSTEC) ดังนี้
ประการแรก “ความมั่งคั่ง (Prosperous)” มิติด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งเสริมธุรกิจแบบใหม่ที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม
ประการที่สอง “ความยั่งยืน (Resilient and Robust)” มิติด้านความมั่นคง สนับสนุนความพร้อมในการเผชิญหน้ากับความท้าทายและวิกฤตในทุกรูปแบบ และสนับสนุนนโยบายในด้านการฟื้นตัว ซึ่งไทยพร้อมที่จะแบ่งปันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ไทยใช้เป็นยุทธศาสตร์ชาติในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด
ประการที่สาม “การเปิดกว้าง (Open)” มิติการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไทยมีแผนที่จะจัดทำเวทีพัฒนาความรู้กรอบบิมสเทค (BIMSTEC Knowledge Platform) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้ประชาชนเข้าถึง และตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของความร่วมมือบิมสเทค โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความพร้อมในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในบิมสเทคที่ยั่งยืน มีคุณภาพ และเป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะขับเคลื่อนบิมสเทคไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งในทุกด้าน วาระการเป็นประธานบิมสเทคของไทยจะสอดคล้องกับแนวคิด “โปรบิมสเทค” เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้ร่วมลงนามในกฎบัตรบิมสเทค (BIMSTEC Charter)
ที่ถือเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินการภายใต้กรอบบิมสเทค โดยกำหนดวัตถุประสงค์ หลักการ กลไกการดำเนินงาน สิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิก การบริหารจัดการ งบประมาณ และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและเมื่อประเทศสมาชิกลงนามและให้สัตยาบันแล้วจะส่งผลให้กรอบบิมสเทคกลายเป็นองค์การระหว่าง ประเทศในระดับรัฐบาล (inter-governmental organization)