"งานประชุมวิชาการกัญชา" คึกคัก! เสวนาวิชาการเน้นย้ำการปลูกกัญชา ต้องขออนุญาต
9 เม.ย. 2565, 08:22
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานกิจกรรม อาคารสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานการประชุมวาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 10 หายเจ็บ หายจน รวมพล คนรักกัญ ซึ่งวันนี้เปิดงานเป็นวันแรก ปรากฏว่า บรรยากาศค่อนข้างคึกคึก เนื่องจากว่ามีส่วนราชการและวิสาหกิจชุมชน และบรรดาพ่อค้าแม่ค้าจากจังหวัดต่าง ๆ ในเขตสุขภาพที่ 10 นำเอาสินค้าต่าง ๆที่เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกัญชา เช่น ปลาร้ากัญชา กาแฟกัญชา รวมทั้งสินค้าโอท๊อปต่างๆ มาออกร้านจำหน่ายกันเป็นจำนวนมาก ทำให้มีประชาชนชาวศรีสะเกษและบุคลากรทางการแพทย์พากันมาหาเลือกซื้อสินค้ากันอย่างคึกคัก ขณะที่บนเวทีกลาง ได้มีการจัดเสวนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชา มีผู้สนใจมารับฟังกันจำนวนมาก
ภญ.วิภา เต็งอภิชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การปลูกกัญชาในครัวเรือนทำได้หรือไม่นั้น ขอตอบว่าทำได้ แต่ว่าวันนี้ท่านจะต้องขออนุญาต ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุญาตให้ประปรายไปแล้ว ซึ่งจะต้องขออนุญาตปลูกให้ถูกต้อง รูปแบบการขออนุญาตนั้นจะต้องขอในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนร่วมกับหน่วยงานรัฐ เช่น รพ.สต.ซึ่งพื้นที่ปลูกจะต้องอยู่ในแปลงเดียวกัน หากสมาชิกวิสาหกิจชุมชนจะปลูกกี่แปลงก็จะต้องระบุให้ชัดเจน กี่แปลงก็ว่ากันไป ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนโดยผลผลิตที่ปลูกได้ก็จะต้องส่งกลับคืนไปให้ รพ.สต. เพื่อใช้ทางการแพทย์หรือส่งให้กับกรมการแพทย์แผนไทย เพื่อใช้ในการผลิตยาก็ได้ ในส่วนที่ได้รับการยกเว้น เช่น ใบหรือว่าฐานรากของต้นก็สามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้เป็นโมเดลที่ได้อนุญาตให้อยู่แล้ว ซึ่งการขออนุญาตปลูกกัญชานี้จะขอเท่าไหร่ก็ได้แต่จะต้องสอดคล้องกับปลายทางผลผลิตที่จะออกมา หากต้องการเอาออกไปใช้ในการทำยาเยอะก็สามารถที่จะปลูกจำนวนมากขึ้นได้ ซึ่งในอนาคตเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าตัวพระราชบัญญัติกัญชากันชงนี้ยังอยู่ในสภาเตรียมที่จะนำเอาออกมาประกาศใช้ในอนาคต ถ้าหากสมมุติว่าตัวพระราชบัญญัตินี้ออกมาแล้วคงจะต้องติดตามกันอีกครั้งหนึ่งว่าจะต้องทำอย่างไรกันอีกต่อไป เบื้องต้นคงจะไม่สามารถยืนยันกับทุกท่านได้ เนื่องจากเป็นร่างพระราชบัญญัติอยู่ก็คงจะต้องรอฟังความคืบหน้ากันต่อไป หากทุกท่านต้องการดูร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็สามารถดูได้ในเว็บไซต์ต่างๆที่ได้นำเอามาลงเอาไว้
อาจารย์สมคิด ดำน้อย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.เชียงราย กล่าวว่า หากดูภายนอกจะไม่สามารถแยกได้ว่าตัวไหนเป็นกัญชงหรือกัญชา เรื่องกันชงกัญชานี้ไม่ว่าจะเซียนยังไงก็แยกกันได้ยากว่าตัวไหนเป็นกันชงตัวนี้เป็นกัญชา ซึ่งหากจะแยกได้ก็จะต้องมีการตรวจสอบหาสารเมาที่อยู่ในกัญชานำเอาไปตรวจสอบ ซึ่งกัญชาจะมีหลายสายพันธุ์จะต้องตรวจสอบแยกแยะก่อนที่จะนำเอาไปปลูก โดยส่วนต่าง ๆ ของกัญชาจะเริ่มตั้งแต่รากลำต้นมาจนถึงใบ ต้นกัญชาจะมีการแยกเห็นได้ชัดเจนว่า ต้นใดเป็นตัวต้นตัวผู้และตัวเมีย จะต้องศึกษาหาความรู้ให้ดีก่อนที่จะเริ่มทำการปลูก
ทางด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 กล่าวว่า ปัจจุบันกัญชามีข้อมูลด้านวิชาการ ด้านการศึกษาวิจัย มาสนับสนุนว่าสามารถนำเอากัญชามาใช้ในการรักษาโรคได้ ซึ่งเขตสุขภาพที่ 10 ให้ความสำคัญในเรื่องของการนำเอากัญชามาใช้ทางการแพทย์ โดยมีการเปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ จำนวน 68 แห่ง ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการ และสถานพยาบาลเอกชน ซึ่งมีการให้บริการทั้งในส่วนของการให้คำปรึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ การให้บริการกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย ซึ่งในประเด็นการใช้กัญชาทางการแพทย์ เราได้เน้นในเรื่องของความปลอดภัยในการใช้ ผลิตภัณฑ์ ยาที่ใช้ต้องมีความปลอดภัย ได้รับการวิเคราะห์ด้านคุณภาพ มีประสิทธิผลในการรักษา
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 กล่าวต่อไปว่า ซึ่งเขตสุขภาพที่ 10 มีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในทุกจังหวัด โดยมีจำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปลาร้ากัญชา ของ จ.อำนาจเจริญ ที่ได้เข้าสู่ขั้นตอนการยื่นขออนุญาตแล้ว นอกจากนี้ ยังเน้นให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชาได้ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาจะได้รับการติดตามในเรื่องของผลการรักษาและความปลอดภัยจากการใช้ยากัญชาทุกราย เขตสุขภาพที่ 10 มีผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาตั้งแต่เริ่มมีการดำเนินงานเปิดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ จนถึงไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2565 รวมทั้งสิ้น จำนวน 4,537 ราย แยกเป็นแผนไทย จำนวน 4,202 ราย และแผนปัจจุบัน จำนวน 335 ราย นอกจากการให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แล้ว เขตสุขภาพที่ 10 ยังให้ความสำคัญในเรื่องการผลิตตำรับยากัญชาทางการแพทย์ เพื่อนำมาใช้ในคลินิกกัญชาในโรงพยาบาล โดยมีสถานที่ผลิตตำรับยากัญชาที่ได้รับอนุญาต จำนวน 2 แห่ง ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ รพ.พนา จ.อำนาจเจริญ และวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว จ.อุบลราชธานี ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตตำรับกัญชาทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนความต้องการใช้ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ทุกแห่งในเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 5 ตำรับ ได้แก่ ยาทำลายพระสุเมรุ (18,088 แคปซูล) สุขไสยาศน์ (11,807 แคปซูล) น้ำมันกัญชา (3,826 ขวด) ยาแก้ลมแก้เส้น (1,480 แคปซูล) และยาริดสีดวงทวารหนัก(1,872 ซอง) ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้มีการนำเอากัญชามาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมการปลูกกัญชา การผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกัญชา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งปัจจุบันในเขตสุขภาพที่ 10 มีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาแล้ว จำนวน 11 แห่งอยู่ระหว่างการขออนุญาต จำนวน 19 แห่ง และแสดงเจตจำนงขอปลูก จำนวน 17 แห่ง มีสถานที่ผลิตตำรับยากัญชา รวมทั้งมีการส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกัญชา ทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถที่จะพัฒนาและต่อยอดธุรกิจจากพืชกัญชา เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนและเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชน