"อนุทิน" เปิดงานประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เผยนโยบายกัญชาทางการแพทย์เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศไทย
9 เม.ย. 2565, 17:51
เมื่อวันที่ 9 เม.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 10 ซึ่งกำหนดจัดงานนี้ขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย.65 ในการจัดงานครั้งนี้มีส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับกรม และระดับจังหวัด วิสาหกิจชุมชน และภาคเอกชน มาออกร้านนิทรรศการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชงกัญชา พร้อมทั้งได้นำเอาผลิตภัณฑ์แปรรูปของกัญชาจำนวนมาก เช่น ซาลาเปากัญชา ปลาร้ากัญชา กาแฟกัญชา เครื่องสำอางที่แปรรูปจากกัญชา รวมทั้งกัญชาที่ใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ มาแสดงและจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ โดยมีการเปิดคลินิกตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยกัญชาอีกด้วย บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักมาก เนื่องจากว่ามีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุข ผอ.รพ.ในเขตสุขภาพที่ 10 ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร และศรีสะเกษ รวมทั้ง อสม.และบุคลากรทางการแพทย์มาร่วมในพิธีเปิดครั้งนี้จำนวนมาก โดยนายอนุทินจะมีความแจ่มใส ร่าเริง ทักทายกับผู้ที่มาร่วมงานครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากว่าทุกคนเป็นบุคลากรทางการแพทย์และเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญที่ร่วมกันในการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนอย่างเป็นกันเอง โดยหลังจากประกอบพิธีเปิดงานแล้ว นายอนุทินได้ไปเยี่ยมชมร้านค้านิทรรศการต่าง ๆ พร้อมทั้งได้ชิมอาหารที่ทำจากกัญชา ซึ่งแต่ละแห่งมีรสชาติอร่อยมาก โดยมี นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้กล่าวรายงาน นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ มี ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน มาร่วมพิธี และชมนิทรรศการจำนวนมาก
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามปลดพืชกัญชาออกจากรายการยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการลงนามปลดพืชกัญชาออก จากรายการยาเสพติดนั้น มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนสามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้นของตนเองและต่อยอดเศรษฐกิจครอบครัว หลังจากที่ประเทศไทยเปิดโอกาสให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ตั้งแต่ปี 2562 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องนี้ได้มีการติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยภัยของการใช้ยากัญชา ในการรักษาโรคต่าง ๆ การเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ของประชาชนเปิดคลินิกกัญชาในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนรวมถึงติดตามเรื่องความกังวลของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลต่อจิตและประสาทหรือการเสพติดนั้น กระทรวงสาธารณสุข มีระบบการรักษาและกำกับติดตามผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชามากขึ้นและมีความปลอดภัยสูง ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงกำหนดให้มีการจัดประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ขึ้น ใน 12 เขตสุขภาพ ทั่วประเทศในงานมีการประชุมวิชาการทั้งภาคประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งตลอดการจัดงานทั้ง 3 วัน เรามีเป้าประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากที่สุด การดำเนินงานของเขตสุขภาพที่ 10 ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร และ จ.ศรีสะเกษ เป็นเขตสุขภาพที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ มีการดำเนินการทั้งในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยในส่วนต้นน้ำ มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชาจำนวน 11 ราย อยู่ระหว่าง ดำเนินการยื่นขออนุญาต จำนวน 19 ราย และแสดงเจตจำนงขอปลูก จำนวน 17 ราย ในส่วนกลางน้ำ มีสถานที่ผลิตตำรับยากัญชาที่ได้รับอนุญาต จำนวน 2 แห่ง และ ในส่วนปลายน้ำ สามารถเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐและคลินิกกัญชาทางการแพทย์ภาคเอกชน รวม 68 แห่ง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายกัญชาทางการแพทย์ เป็นนโยบายที่กำหนดขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศ กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ เพราะเป็นหนึ่งในพืชที่ใช้ประโยชน์นำมาเป็นยาและอาหารได้ทุกส่วน ทั้ง ราก ต้น ใบ และดอก ที่คนไทยใช้กันมานานการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจ และจะสามารถพลิกโฉมให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เห็นได้จากผลงานในปี 2564แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด 19 พบว่า ผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศอย่างมาก สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท คุณยืนยง โอภากุล (แอ็ด คาราบาว) แต่งเพลง "หนูกัญชา" ได้เนื้อหาครบถ้วน บอกทั้งนำไปใช้ด้านสมุนไพร ด้านเศรษฐกิจ เหมือนกับนโยบายที่พวกเราขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านการแพทย์ ดังเนื้อเพลง " รากและต้น ใบ ดอกกัญชา ใช้ปรุงเป็นยา เป็นสมุนไพร ปรุงรส แกงเนื้อ แกงไก่ แทนผงชูรส เจริญอาหาร อาการทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ยังทุเลาเบาลงถึงหายขาด กัญชามีจารึกในประวัติศาสตร์ ว่าไทยแลนด์เป็นชาติที่ใช้กัญชาอย่างเข้าใจ" ด้านเศรษฐกิจ ดังเนื้อเพลง " ได้ใช้ นั่นหมายถึงได้ปลูกจะกี่ ต้น กี่ไร่ ก็ว่าไป หรือปลูกเป็นเศรษฐกิจยิ่งดีใหญ่ เกษตรกรไทยคงลืมตาอ้าปากอ้าปาๆ ก็เพราะว่าได้ปลูก ได้ปลูกถึงลืมตาอ้าปาก" ตนจึงถือว่า เราประสบความสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอนในการทำให้กัญชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีความโดดเด่น สร้างให้เกิดความมั่นคงทางยาของประเทศ สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่เกษตร และผู้ประกอบการรายย่อยโดยเริ่มก้าวแรกจากการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ การทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน และความสำเร็จล่าสุด คือ มีการแก้กฎหมายทำให้พืชกัญชาหลุดจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามปลดล็อกพืชกัญชาจากการเป็นยาเสพติด เพื่อเปิดให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างเหมาะสมไม่จำกัดแค่ 6 ต้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน คือวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ดังนั้น การจัดงานประชุมวิชาการกัญชาของเขตสุขภาพนี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการนำส่วน กิ่ง ก้าน ราก ใบ และช่อดอก เพื่อเอาส่วนที่เป็นประโยชน์มาใช้เป็นยาสมุนไพรประกอบอาหาร รวมถึงผู้ประกอบการและบุคลากรทางการแพทย์ได้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมถึงต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างคุ้มค่า ตนขอเน้นย้ำว่า กัญชา กัญชง มีประโยชน์มาก สามารถนำมาใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยได้ เรากำลังเดินหน้าให้คนไทยสามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้รักษาโรคได้เช่นเดียวกับพืชสมุนไพรตัวอื่น แต่จะต้องมีกระบวนการควบคุมที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชงต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เพื่อให้มีกฎหมายมาควบคุมเฉพาะ หลังจาก 120 วัน ที่กัญชาจะพ้นจากการเป็นยาเสพติด ประชาชนที่ต้องการปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่ต้องขออนุญาตแบบแต่ก่อน เปลี่ยนเป็นมาจดแจ้งให้รัฐทราบ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เมื่อเราได้ทำตามความประสงค์ของประชาชน คือ เอาต้นกัญชาออกจากยาเสพติดแล้ว ขอให้ท่านได้ใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง และช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เพื่อนร่วมสังคมนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งในส่วนนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้อง อสม.และบุคลากรสาธารณสุขทุกท่าน ในการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ในการนำพืชกัญชาไปใช้อย่างถูกวิธี และสามารถนำไปต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้ต่อไป