เตือยภัย! แก๊งมิจฉาชีพหลอกขายปุ๋ยปลอม ใน อ.ท่าแซะ เบื้องต้นพบ 3 ตำบล เสียหายกว่า 2 ล้าน
21 เม.ย. 2565, 10:07
เมื่อวันที่ 20 เม.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง. พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ พ.ต.อ.สมเกียรติ ตันติกนกพร รอง ผบก.ปคบ.,พ.ต.อ.อภิชาติ เรนชนะ ผกก.๒ บก.ปคบ. พ.ต.ท.กานต์กนิษฐ์ จงประเสริฐ , พ.ต.ท.ธีรภพ พันธุชาติ รอง ผกก.๒ บก.ปคบ. ได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการที่ 4 กก.2 บก.ปคบ.ประกอบด้วย พ.ต.ต.พงษ์ธนา กรีฑา สว.กก.2 เจ้าพนักงานตำรวจ บก.ปคบ.ไปทำการสืบสวนหลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ในพื้นที่ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ว่ามีผู้ฉวยโอกาสในขณะที่ปุ๋ยราคาแพงลักลอบขายปุ๋ยเคมีปลอม มาเร่ขายให้กับเกษตรกรในพื้นที่
พ.ต.ต.พงษ์ธนาฯ สว.กก.2 เจ้าพนักงานตำรวจ บก.ปคบ.หัวหน้าชุดสืบสวน เปิดเผยว่า ภายหลังได้ลงพื้นที่เพื่อทำการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด โดยพบว่ามีผู้เสียหายจำนวน 3 ตำบลประกอบด้วย ตำบลสองพี่น้อง ตำบลหงส์เจริญ และตำบลสลุย มีเกษตรกรชาวสวน หลงเชื่อเป็นจำนวนมากเบื้องต้นพบผู้เสียหายแล้วประมาณ 50-100 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 2 ล้านบาท
ลักษณะการกระทำความผิดใช้การขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดทำให้มีเกษตรกรบอกต่อให้ญาติพี่น้องติดต่อสั่งซื้อกันเสียหายรายละหลายหมื่นบาท จากการสืบสวนพบว่าปุ๋ยดังกล่าวมีการโฆษณาบอกแก่ลูกค้าหรือผู้ซื้อว่าเป็นปุ๋ยท้องเรือ โดยปุ๋ยดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับปุ๋ยเคมีที่วางจำหน่ายในท้องตลาด แต่ไม่มีกลิ่นฉุน จับดูแล้วมีลักษณะคล้ายดินอัดก้อน โดยมีผู้เสียหายที่หลงเชื่อและได้ซื้อปุ๋ยปลอมดังกล่าวได้นำผลิตภัณฑ์ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นปุ๋ยปลอม มามอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและได้ประสานงานกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพรเพื่อตรวจพิสูจน์ จำนวนหลายสิบคน และยังมีผู้เสียหายที่อยู่ระหว่างติดต่ออีกจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายประมาณ 2 ล้านบาท
โดยจากการสืบสวนพบว่าปุ๋ยปลอมดังกล่าวมีลักษณะคล้ายปุ๋ยยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเลขทะเบียนปุ๋ยหมดอายุไปตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งถือว่าเป็นปุ๋ยเสื่อมสภาพ โดยชุดสืบสวนอยู่ในระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสาวไปถึงกลุ่มมิจฉาชีพที่อ้างตัวเป็นเซลล์หรือพนักงานขายของบริษัทโดยการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน ผลิตปุ๋ยโดยไม่ได้รับอนุญาต ผลิตปุ๋ยเพื่อจำหน่ายโดยไม่ขึ้นทะเบียนปุ๋ย ตามมาตรา 71,72 พ.ร.บ.ปุ๋ย 2550 ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นถึงสองแสนบาท
ด้านนายสมชาย มณีโชติ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร หมู่ 4 ตำบลสลุย อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เปิดเผยว่า ข้อสังเกตในการเลือกซื้อปุ๋ย เบื้องต้นต้องดูลักษณะกายภายภายนอกหรือถุงหรือกระสอบบรรจุต้องมีความสมบูรณ์ มีชื่อบริษัทผู้ผลิต ที่ตั้ง น้ำหนักของปุ๋ย สูตรปุ๋ยต้องระบุไว้ข้างกระสอบ สำหรับปุ๋ยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ.ตรวจยึดมานั้น ตามที่กล่าวไปบนกระสอบไม่มีระบุอะไรเลยเป็นปุ๋ย เคมีหรืออินทรีย์ต่างๆเบื้องต้นมั่นใจว่าเป็นปุ๋ยปลอมหรือเป็นปุ๋ยที่ไม่ได้มาตรฐาน และราคาของปุ๋ยตัวที่ตรวจยึดมาเป็นตัวอย่างนั้นราคา 540-600 บาท ซึ่งราคาแตกต่างกันเยอะโดยราคาปุ๋ยได้มาตรฐานกระสอบละ50 กิโลกรัม กระสอบละ 1000-1500 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างเก็บตัวอย่างปุ๋ยที่ตรวจยึดมา
เกษตรกรรายหนึ่ง หลงเชื่อกลุ่มแก็งมิจฉาชีพซื้อปุ๋ยไปจำนวนหนึ่งเดินทางมาที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร เพื่อส่งมอบปุ๋ยไม่ได้มาตรฐานศูนย์วิจัยฯเก็บเป็นตัวอย่าง เปิดเผยว่า พอเห็นกระสอบไม่ได้มาตรฐานจึงเอะใจ ยอมเปิดกระสอบชิมก่อนเลย จึงรุ้ว่าต้องเป็นของปลอมเนื่องจากไม่มีรถชาติ จืดชืดเหมือนกินดินผสมหินและนำไปใส่ต้นไม้เล็กในปริมาณที่มาก ถ้าเป็นปุ๋ยท้องเรือจริงต้นไม้ต้องตายแต่นี่กลับไม่เป็นอะไรเลย
ทั้งนี้ด้าน ปคบ.แจ้งเตือนในสถานการณ์ปุ๋ยแพง เช่นในปัจจุบัน มิจฉาชีพ จะใช้โอกาสในการหลอกลวงเกษตรกรหรือผู้บริโภค โดยการเสนอขายสินค้าที่มีราคา ถูกกว่าท้องตลาด โดยจะอ้างเหตุผลต่างๆ นาๆ ฉะนั้น การตัดสินใจซื้อปุ๋ย เคมีภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์อื่นใด ที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาด ให้พิงระวังไว้เลยว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าปลอม หรือสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน