นายกฯ ฝากประชาชนร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข เพื่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงต่อเนื่อง
30 เม.ย. 2565, 10:21
วันนี้(30 เม.ย. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้มีการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) แม้รัฐบาลและศบค. ได้มีการผ่อนคลายปรับมาตรการต่าง ๆ แล้ว แต่ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมายที่กำหนด เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรองรับในอนาคตเมื่อเข้าหลักเกณฑ์ที่จะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นต่อไป โดยยืนยันจะไม่กระทบในส่วนการรักษาพยาบาล เพราะระบบการคลัง ระบบ สปสช. ยังคงเข้าดูแลเช่นเดิมตามสิทธิที่ทุกคนมีสิทธิ์การรักษาสิทธิ์ใดสิทธิ์หนึ่งอยู่แล้วทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และบัตรข้าราชการ เป็นต้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้ออกประกาศนักบิน (NOTAM) แจ้งสายการบินทั่วโลกถึงมาตรการที่ปรับปรุงในการเดินทางทางอากาศเข้ามายังประเทศไทยแล้ว เพื่อสร้างความเข้าใจและให้สายการบินปฏิบัติตามมาตรการได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป พร้อมเน้นย้ำและขอความร่วมมือสายการบินให้ช่วยตรวจสอบกลั่นกรองเอกสารและเฝ้าระวัง อย่างเคร่งครัดตามมาตรการใหม่ รวมทั้งให้สายการบินแจ้งข้อมูลผู้โดยสารให้ครบถ้วนถูกต้องเพื่อสามารถเตรียมพร้อมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางเข้าประเทศตามมาตรการใหม่ได้อย่างเต็มที่และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยวันนี้ (30 เมษายน2565) พบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มจำนวนรวม 12,888 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 12,784 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 104 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 2,027,514 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ขณะที่หายป่วยกลับบ้าน 17,105 ราย ทำให้หายป่วยสะสม1,902,362 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) โดยมีผู้ป่วยกำลังรักษา 151,567 ราย และเสียชีวิต 126 ราย ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,773 ราย. เฉลี่ยจังหวัดละ 23 ราย อัตราครองเตียง ร้อยละ 23.7
ส่วนการให้บริการวัคซีนโควิด - 19 ของประเทศไทย มียอดการได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 - 28 เมษายน 2565 รวม 133,141,807 โดส ใน 77 จังหวัด จำแนกเป็น จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม 56,232,122 รายจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 สะสม 51,177,370 ราย และจำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม 25,732,315 ราย