"วัดศรีโคมคำ" ฟื้นฟูครัวตานล้านนาช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19
11 พ.ค. 2565, 16:07
วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า วัดศรีโคมคำ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา จัดทำการฟื้นฟูสืบสาน ครัวตานล้านนา หรือเครื่องไทยทานแบบล้านนา ที่นำเอาผลผลิตทางด้านการเกษตรของเกษตรกร นำมาใส่เครื่องครัวตาน เพื่อถวายพระสงฆ์ในช่วงเทศกาลไหว้สาพระเจ้าตนหลวง และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ปัจจุบันประสบกับภาวะการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้ผลผลิตจำหน่ายไม่ได้ และราคาถูก
ผลผลิตทางด้านการเกษตร ซึ่งประกอบด้วย กล้วย สับปะรด ฟักทอง หอมแดง กระเทียม พริกแห้ง ตะไคร้ ตลอดจนผลผลิตอื่นๆถูกนำมาบรรจุ ในเครื่องครัวตานล้านนา แบบโบราณ ที่ใช้ตระกร้าในการ บรรจุเครื่องครัวตาน หรือเครื่องไทยทานดังกล่าว เป็นเครื่องครัวตาน ที่ทางวัดศรีโคมคำ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ได้จัดขึ้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม ของชาวล้านนา ซึ่งในอดีตได้มีการทำเครื่องครัวตานหรือเครื่องไททานในลักษณะ ดังกล่าว ถวายให้กับพระสงฆ์ แต่มาระยะหลังครัวตานลักษณะดังกล่าวนั้นได้เริ่มสูญหายไป ทางวัดศรีโคมคำหรือวัดพระเจ้าตนหลวง จึงได้ดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูและสืบสานวัฒนธรรมเก่าแก่ ที่เป็นสิ่งดีงามให้กลับมา รวมทั้งยังเป็นการช่วยเหลือให้พี่น้องเกษตรกรสามารถที่จะจำหน่ายผลผลิตได้
โดยพระครูใบฎีกาทศพล ญาณนเมธี เจ้าอาวาสวัดโสมนัสตุ้มท่า ตำบลท่าจำปี อำเภอเมืองจังหวัดพะเยา เป็นผู้จัดขึ้น เพื่อให้ทางวัดศรีโคมคำ ได้นำถวายพระสงฆ์ และระบุว่า ในอดีตช่วงที่ผ่านมาสมัยปู่ย่า ตายาย จะทำเครื่องครัวตาน หรือลักษณะเครื่องไทยทาน โดยมีลักษณะจะนำสิ่งของต่างๆซึ่งจะเป็นลักษณะผลหมากรากไม้หรือของปลูก มารวมกันและทำเป็นเครื่องครัวตานหรือเครื่องไทยทาน และนำไปทำบุญ แต่ปัจจุบันทางวัดศรีโคมคำโดยพระราชปริยัติ เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ เจ้าคณะจังหวัดพะเยา ได้ดำริว่า อยากจะฟื้นฟูเครื่องครัวตานล้านนาดังกล่าวขึ้น เพื่อถวายให้กับพระสงฆ์ในช่วง เทศกาลแปดเป็ง หรือประเพณีไหว้สาพระเจ้าตนหลวงขึ้นจึงได้มีการดำเนินการจัดทำเครื่องครัวตาน ลักษณะแบบโบราณล้านนาเหมือนเช่นในอดีต แทนการที่จะใช้เครื่องไทยทานในลักษณะสำเร็จรูป ประกอบกับยังได้มีการช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องของ การจำหน่ายผลผลิตทางด้านการเกษตร ที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งสินค้าทางการเกษตรไม่สามารถจำหน่ายได้เช่นปกติ และมีราคาถูกดังนั้นทางวัดจึงได้มีการซื้อผลผลิตทางด้านการเกษตรของชาวบ้าน มาทำเป็นเครื่องครัวตานแบบล้านนา เพื่อถวายพระสงฆ์ซึ่งในครั้งนี้ ซึ่งจะได้มีการทำขึ้นกว่า 500 ชุด ซึ่งถือว่าเป็นการฟื้นฟูและสืบสานเครื่องครัวตานลักษณะดั้งเดิมของชาวล้านนาไว้ อีกทั้งยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้โดยสามารถที่จะนำสินค้าทางการเกษตรมาจำหน่ายให้กับทางวัดได้