นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง ย้ำความร่วมมืออาเซียน-สหรัฐ เพื่อก้าวผ่านความท้าทาย สู่ยุคใหม่ที่มั่นคงและยั่งยืน
14 พ.ค. 2565, 09:46
วันนี้ (13 พ.ค. 65) เวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา ณ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการหารือระหว่างอาหารกลางวัน (Working Lunch) ระหว่างผู้นำอาเซียนกับนางคามาลา เดวี แฮร์ริส (The Honorable Kamala Devi Harris) รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ในประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์อาเซียน – สหรัฐอเมริกา ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญจากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรีขอบคุณรองประธานาธิบดีที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น งานเลี้ยงอาหารกลางวันในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีในการหารือกำหนดทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นพ้องกับรองประธานาธิบดีว่า “ประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 จะถูกจารึกขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” โดยอาเซียน-สหรัฐฯ ต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อก้าวผ่านความท้าทายใหม่ในหลายประการ
การรับมือและฟื้นฟูจากโควิด-19 และการส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขในระยะยาว เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า สหรัฐฯ สามารถขยายความร่วมมือกับอาเซียนในด้านการวิจัย การพัฒนายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น การขยายฐานการผลิตวัคซีนในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขและเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับภูมิภาค โดยไทยมี “ศูนย์จีโนมิกส์” ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้มีประสิทธิภาพและความแม่นยำมากขึ้น
การพัฒนาทุนมนุษย์ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับภูมิภาค โดยเฉพาะในยุค 4IR ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในทุกมิติ โดยสหรัฐฯ สามารถเข้ามาลงทุนและช่วยพัฒนา รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัลสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการ MSMEs ในอาเซียนได้ ในขณะเดียวกันไทยก็มีพื้นที่ Thailand Digital Valley ใน EECi ด้วย
ความร่วมมือทางทะเล จะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งเชื่อมโยงกันด้วยมหาสมุทรแปซิฟิก การบริหารจัดการสถานการณ์ทางทะเลให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และตั้งอยู่บนกฎกติกา จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลได้อย่างยั่งยืน ไทยจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลในภูมิภาคมาโดยตลอด โดยเฉพาะการต่อต้านการประมง IUU นอกจากนี้ ไทยจริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย โดยผลักดันให้มีการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมง IUU เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยสหรัฐฯ สามารถมีบทบาทในการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากล และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง IUU ให้แก่อาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประมงที่ยั่งยืนของภูมิภาค และช่วยฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมให้แก่มหาสมุทร
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือเหล่านี้ล้วนเป็นความร่วมมือที่สร้างสรรค์ โดยจะนำมาซึ่งการพัฒนาและความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในภูมิภาค จึงหวังว่า อาเซียนและสหรัฐฯ จะมุ่งมั่นขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ให้ก้าวสู่ยุคใหม่อย่างมั่นคงต่อไป