นายกฯ เปิดสัมมนากำหนดยุทธศาสตร์ท่องเที่ยว ยก Phuket Sandbox ต้นแบบฟื้นฟูการท่องเที่ยว
6 มิ.ย. 2565, 18:57
วันนี้ ( 6 มิ.ย.65 ) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (6 มิ.ย. 2565) เวลาประมาณ 15.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนากำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวประเทศไทย (Thailand Tourism Congress 2022) ณ โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท กะตะ จ.ภูเก็ต โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมคณะผู้บริหาร ททท. เข้าร่วม และมีนายณรงค์ วุ่นซิ่ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และภาคธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต ให้การต้อนรับ
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การยกระดับการท่องเที่ยวไทย สู่การท่องเที่ยวคุณภาพที่ยั่งยืน” ขอบคุณชาวจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รวมกันผลักดัน Phuket Sandbox จนกลายเป็นแบบอย่างให้ของหลายประเทศ มีการร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนในการผ่านความยากลำบากตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความเชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวไทยกำลังเริ่มต้นกลับมาอีกครั้ง จากจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ด้วยการปรับปรุงเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศ ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะต้องมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป โดยต้องเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ ให้ประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยรัฐบาลสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ให้ความสนใจกับมิติคุณภาพของนักท่องเที่ยว มากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อคุณค่าสิ่งแวดล้อม ต่อคุณค่าวัฒนธรรม และต่อคุณค่าความเป็นไทย แต่การสร้างการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพนี้ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ต้องร่วมกันทั้งรัฐบาลกับผู้ที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวทุกคน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อนาคตการท่องเที่ยวโลกจะเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า VUCA World คือโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่บนความแน่นอน และเต็มไปด้วยความท้าทายทุกรูปแบบ การจะรับมือกับ VUCA World ทุกฝ่ายต้องร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ที่มีความยืดหยุ่น และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีความเปราะบาง และอ่อนไหวมาก ซึ่งขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยก็มีความร่วมมือได้อย่างน่าชื่นชม
อย่างไรก็ตาม ประเด็นขอฝากให้ธุรกิจการท่องเที่ยวนำไปประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวร่วมกันคือ แนวโน้มของกลุ่มประเทศลูกค้าหลักของการท่องเที่ยวไทยที่หลายประเทศให้ความสนใจคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคม โดยเฉพาะ เรื่องความเหลื่อมล้ำ และเรื่องธรรมมาภิบาล ทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการให้ความสำคัญกับการใช้โลกของดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่อง Metaverse กับการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ รัฐบาลขอมอบยุทธศาสตร์แห่งรอยยิ้ม (SMILES) ให้ภาคการท่องเที่ยวได้นำไปเป็นกรอบในการระดมสมองในโครงการสัมมนา Thailand Tourism Congress 2022 ได้แก่ S – Sustainability ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งเรื่องการใช้พลังงาน Carbon Footprint ไปจนถึง Food Waste , M – Manpower ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ทางด้านการท่องเที่ยว ที่มีทักษะในระดับนานาชาติ แต่รักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างมีเสน่ห์
I – Inclusive Economy ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญกับคนทุกเพศ ทุกวัย เด็ก คนชรา ออกแบบสถานที่การท่องเที่ยวให้ตอบสนองทุกกลุ่มคน และสร้างโอกาสในการทำงานด้านการท่องเที่ยวให้กับผู้ด้อยโอกาส, L – Localization ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ชูจุดเด่นที่แตกต่างกัน และนำมาร้อยเรียงกันให้สนับสนุนกัน รัฐบาลอยากเห็น การเชื่อมโยงของภูมิภาค ที่สามารถนำกลุ่มจังหวัดไปประสานและสอดรับกันได้
E – Ecosystems ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศทางการท่องเที่ยว ทั้งเรื่องระบบนิเวศธรรมชาติ และระบบนิเวศทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงการลดเงื่อนไข ทอนขั้นตอนทางด้านกฎหมาย เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงได้ และ S – Social Innovation ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านสังคม ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป จากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวให้กำลังใจกับทุก ๆ ฝ่ายที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ในการจะร่วมกันแก้ปัญหาที่ค้างคามานาน ตั้งแต่เรื่องพระราชบัญญัติโรงแรมที่กำลังปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป รวมถึงการจะให้ภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่อง ในรูปแบบ sandbox ในหลายมิติสำคัญ เช่น การปรับปรุงกฎหมายบางฉบับที่สนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้คณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ใน ศบค. ได้ให้ความสนใจและประสานงานกับทางจังหวัดภูเก็ตอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด
พร้อมกับขอให้ร่วมกันระดมความคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย เพราะนี่จะเป็นโอกาสสำคัญของคนท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยที่จะได้กำหนดอนาคตท่องเที่ยวไทย ด้วยคนท่องเที่ยวเอง โดยรัฐบาลจะรอรับบทสรุปจากการระดมสมองกำหนดยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวไทยในครั้งนี้ จะนำทุกข้อเสนอไปพิจารณา และจะลงมือทำในสิ่งที่ทำได้ทันที เพื่อให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญนี้ เป็นกำลังหลักให้ประเทศไทยต่อไป
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมรับฟังสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวภายหลังรัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 การผ่อนปรนข้อกำหนดการเดินทางเข้าราชอาณาจักร รวมถึงรับฟังแนวคิดและเป้าหมายการจัดสัมมนา Thailand Tourism Congress 2022 จาก ททท. และภาคเอกชน ที่ต้องการให้งานในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนระดมสมองของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งรัฐ เอกชน เพื่อให้ได้ข้อสรุปองค์ความรู้ในการไปพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวสำคัญของโลกอย่างยั่งยืนและสมดุล โดยมีเครือข่ายของภาครัฐและเอกชนร่วมกันขับเคลื่อน