เปิดไทม์ไลน์ ! ผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" รายแรกในไทย พบเที่ยวสถานบันเทิง 2 แห่ง
22 ก.ค. 2565, 13:27
วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นการพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Mokeypox) ในประเทศไทยรายแรก ที่ จ.ภูเก็ต ว่าทางกรมควบคุมโรคได้รายงานผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงรายแรกเป็นข้อมูลเบื้องต้นไปวานนี้ (21 ก.ค.) ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงถูกประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 กำหนดอาการสำคัญคือ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ มีตุ่มผื่นที่ผิวหนังลักษณะตุ่มน้ำหรือหนอง เกิดที่ศีรษะ อวัยวะเพศ ทวารหนักและร่างกายส่วนอื่น
นพ.โอภาส กล่าวว่า เมื่อประกาศแล้วจะมีมาตรการผ่านทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานควบคุมโรคจัดทำแผนปฏิบัติการ และรายงานสถานการณ์เหตุสังเกตที่อาจระบาดขึ้น รวมถึงรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา โดยทาง จ.ภูเก็ต ได้ค้นหาผู้ป่วย ได้รับรายงานจากโรงพยาบาล (รพ.) แห่งหนึ่งว่า พบชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีอาการสงสัยเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง มีตุ่มขึ้นที่ใบหน้า ลำตัว แขนขาและอวัยวะเพศ จึงได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ พบว่ามีผลบวกโรคฝีดาษลิง
“ขั้นตอนในการพบผู้ติดเชื้อโรคอุบัติใหม่รายแรกๆ เหมือนสมัยโควิด-19 เมื่อตรวจแล็บที่ 1 แล้วจะต้องยืนยันด้วยแล็บที่ 2 รายนี้ได้มีการยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลออกเมื่อวันที่ 19 ก.ค.65 ตรงกัน ขั้นตอนต่อไปจะต้องรวมข้อมูลผู้ป่วยรายนี้ ทั้งข้อมูลทางคลินิก ทางระบาด เสนอต่อคณะกรรมการวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อยืนยัน โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ได้มีการยืนยันจากคณะกรรมการฯ แล้ว จึงมีการแถลงข่าวทันที” อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสอบสวนโรคผู้ป่วยรายแรก พบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 รายเป็นเพื่อนกัน แต่ยังไม่มีอาการป่วย ผลตรวจแล็บไม่พบโรคฝีดาษลิง แต่ต้องสังเกตอาการหรือกักตัวแล้วแต่กรณีอีก 21 วันตามความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ภูเก็ต จากนั้นมีการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม (Active Case Finding) ในจุดเสี่ยง เช่น สถานบันเทิง 2 แห่งที่ผู้ป่วยไปใช้บริการ พบ 6 รายมีอาการใกล้เคียง คือมีไข้ เจ็บคอ ซึ่งมีการส่งตรวจแล็บ 4 ราย ยังไม่พบการติดเชื้อ จึงต้องสังเกตอาการหรือกักตัวแล้วแต่กรณีอีก 21 วัน นอกจากนั้น ยังมีการค้นหาผู้สัมผัสในโรงแรมที่พัก สถานบันเทิงแห่งอื่นเพิ่มเติม โดยผู้ป่วยมีตุ่มหนองบริเวณอวัยวะเพศ ใบหน้า ลำตัว แขน ขา เมื่อวันที่ 16 ก.ค.65.
นอกจากค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ยังไปสอบสวนในห้องพักผู้ป่วย กำจัดเชื้อในห้อง ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ภูเก็ต จะแถลงรายละเอียด เวลา 11.00 น. อีกครั้ง โดยข้อมูลเบื้องต้น ยืนยันพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทย เป็นไปตามระบบเฝ้าระวังโรคของไทย และได้รายงานไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) ตามกฎอนามัยโลก 2015 แล้ว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ต้องย้ำว่าโรคฝีดาษลิง ไม่มีความรุนแรงสูงมากนัก มี 2 สายพันธุ์หลัก คือแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง ผู้ป่วยรายแรกของไทยเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกที่มีความรุนแรงน้อยกว่า ซึ่งโรคนี้มีระยะดำเนินโรคไม่นาน โดยตุ่มหนองจะค่อยๆ แห้งและหายไป สำหรับประชาชน ต้องย้ำว่าโรคติดต่อการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดต่อง่าย มาตราป้องกันโควิดสามารถใช้ป้องกันได้เช่นกัน ทั้งล้างมือบ่อยๆ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ผู้ที่มีอาการตุ่มหนอง และที่สำคัญคือไม่ตีตราผู้ติดเชื้อ หรือกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดปัญหาทางสังคม”
เมื่อถามว่า มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงในไทยหรือไม่ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคนี้ใช้การรักษาตามอาการ ตุ่มดูน่ากลัว แต่ความรุนแรงโรคไม่มากนัก ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง ส่วนวัคซีนป้องกันมีการผลิตมาแล้วเตรียมใช้มีหลายบริษัท กรมควบคุมโรคได้สั่งจองไปเบื้องต้นแล้ว ทั้งนี้ วัคซีนโรคฝีดาษ (Smallpox vaccine) ที่องค์การเภสัชกรรมมีอยู่นั้น คาดว่านำมาใช้ได้ แต่ต้องดูข้อบ่งชี้ คือ 1.ประสิทธิภาพ 2.ผลข้างเคียง และ 3.ประเมินสถานการณ์ระบาด แต่ภาพรวมขณะนี้อาจยังไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนในวงกว้าง แต่อาจจำเป็นในกลุ่มเฉพาะ เช่น เจ้าหน้าที่ห้องแล็บที่สัมผัสเชื้อ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ต้องดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะพบว่ามีข้อมูลผลข้างเคียง เราต้องชั่งผลดีและผลเสีย