รัฐบาลโชว์ผลงานแก้ปัญหา "คุณแม่วัยใส" ตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม จองสิทธิรับ "ยาคุม" ผ่านแอปเป๋าตังได้
26 ส.ค. 2565, 11:05
วันที่ 26 สิงหาคม 2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ทำให้นักเรียนนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ได้เรียนต่อในสถานศึกษาแห่งเดิมสูงขึ้น จากเดิมปี 2559 ได้เรียนต่อที่เดิม 13.7% ให้ออก หยุดเรียน หรือลาออกเกินครึ่ง 53.5% แต่ล่าสุด ปี 2564 ได้เรียนต่อที่เดิมเพิ่มเป็น 33.8% โดนให้ออก หยุดเรียน หรือลาออกลดลงเหลือ 36.1%
น.ส.รัชดา ระบุว่า มากไปกว่านั้น ปัจจุบันอัตราการท้องไม่พร้อมในกลุ่มแม่วัยใสดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มอายุ 15-19ปี เหลืออยู่ที่ 25 ต่อ 1,000 ประชากร จากปี 2562 อยู่ที่ 31 ต่อ 1,000 ประชากร , กลุ่มอายุ 10-14 ปี เหลืออยู่ที่ 0.9 ต่อ 1,000 ประชากร จากปี 2562 อยู่ที่ 1.1 ต่อประชากร 1,000 คน ทั้งนี้รัฐบาล พร้อมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังคงร่วมกันขับเคลื่อนการคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในกลุ่มที่ไม่พร้อมโดยเฉพาะในวัยรุ่น มีเป้าหมาย ปี 2570 กลุ่มอายุ 15-19 ปี ให้เหลือ 15 ต่อ 1,000 ประชากร กลุ่มอายุ 10-14ปี ให้เหลือ 0.5 ต่อ 1,000 ประชากร
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชน ได้พัฒนาระบบการให้บริการแจกยาคุมกำเนิดให้ผู้หญิงไทยอายุตั้งแต่ 15-59 ปี สามารถรับยาเม็ดได้ฟรี ครั้งละไม่เกิน 3 แผง คนละไม่เกิน 13 แผงต่อปี โดยจองสิทธิรับยาคุมฟรีผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แล้วไปรับยาที่ร้านยา คลินิก และหน่วยบริการใกล้บ้าน หากไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถแสดงบัตรประชาชนเพื่อรับยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดที่หน่วยบริการได้เช่นกัน สำหรับขั้นตอนจองสิทธิรับยาคุมฟรี ผ่านแอป “เป๋าตัง” มีดังนี้
1. เปิดแอปเป๋าตัง ไปที่เมนู “กระเป๋าสุขภาพ” กด “สมัครใช้งานกระเป๋าสุขภาพ” แล้วกรอกข้อมูลและรอการยืนยัน
2. เมื่อได้รับการยืนยันแล้ว ให้เลือกเมนู “บริการสร้างเสริมสุขภาพ” กด “ยาเม็ดคุมกำเนิด”
3. ค้นหาหน่วยบริการ และทำการจองสิทธิภายในวันที่จองสิทธิ และ
4.รับยาคุมกำเนิดภายในวันที่จองสิทธิ ตามเวลาทำการของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ร้านขายยา คลินิกเวชกรรม คลินิกพยาบาล ฯลฯ
“กระทรวงสาธารณสุขได้เตือนว่าการใช้ยาคุมกำเนิด ไม่ว่าจะแบบยาเม็ดหรือการฝัง สามารถป้องกันเฉพาะการท้องไม่พร้อม แต่ไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ขณะนี้มีตัวเลขรายงานว่าพบผู้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น เนื่องจากละเลยไม่สวมถุงยางอนามัย ดังนั้นขอให้คำนึงถึงเรื่องความเสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ด้วย” น.ส.รัชดา กล่าว