"สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย" บุกพบชวน หลีกภัย ยื่นหนังสือให้ยุติการยุบ ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ
20 ก.ย. 2562, 11:38
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าว onb news รายงานว่า นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสภามนตรีสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนพร้อมด้วย ผู้นำเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปที่อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ โดยการประสานงานและอำนวยความสะดวกจาก ดร.ประชัน จันระวังยศ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ คนที่ 2 ได้นำคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อ ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งท่านได้มารับหนังสือ และให้กำลังใจกับคณะที่เข้ามายื่นหนังสือด้วยความอบอุ่น เป็นที่เคารพยิ่ง จากกรณีสถานการณ์ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดแนวนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยควบรวม หรือยุบ โรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวน 15,158 โรงเรียน ก่อให้เกิดความสะเทือนขวัญ กำลังใจคณะครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และชุมชนที่ผูกพัน ดูแลรักษาสร้างโรงเรียนเหล่านั้นมาด้วยมือ ความรัก และแรงศรัทธา อันจะนำมาซึ่งความยุ่งยาก ลำบาก ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และอาจห่างไกลโอกาสได้เข้าถึงการศึกษามากขึ้น ตามที่ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ. ได้นำเสนอนโยบายที่จะยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 15,557 โรงเรียน ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกขวัญและกำลังใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสถานศึกษาขนาดเล็ก และหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 02137 / 14756 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ลงนามโดย นายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัดกระทรวง ได้แจ้งแนวปฏิบัติในการบูรณาการ จัดทำแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก มีสาระสำคัญคือ รมว.ศึกษาธิการ มอบสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นกรรมการ ศึกษาธิการจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้ใช้คำว่า “ควบรวมโรงเรียน” ไม่ให้ใช้คำว่า “ยุบโรงเรียน” ให้ควบรวมโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง รวมแล้วให้มีนักเรียนมากกว่า 120 คน ให้สร้างหลักเกณฑ์การควบรวม โดยพิจารณาจากระยะทาง ความยากลำบากในการเดินทาง ภูมิสังคมต่างๆ และอื่นๆ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 6 สัปดาห์ และรายงานให้ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบภายในเดือนตุลาคม ซึ่งโรงเรียน สถานศึกษา เป็นสถาบันสำคัญเคียงคู่กันกับบ้านและวัด (บวร) ในการพัฒนาชุมชนไทยตลอดมา โรงเรียนและหรือสถานศึกษาคือ สมบัติอันล้ำค่าของชุมชน โรงเรียน สถานศึกษา จึงควรมีคุณลักษณะฐานะ หน้าที่ และความรับผิดชอบ สำคัญคือ เป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคลากรทุกเพศทุกวัย และทุกสาขาอาชีพ มีหน้าที่จัดการศึกษาให้บุคลากรได้เรียนรู้ตลอดชีวิต โรงเรียนขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ มีแนวทาง วิถีวัฒนธรรมและปรัชญาทางการศึกษาเฉพาะตนที่ชุมชนยอมรับ คุณภาพผู้เรียนวัดที่ทักษะ สมรรถนะที่เขางอกงาม ตามด้วยคุณธรรมที่ต้องมี ข้อดีของโรงเรียนที่มีคู่ชุมชน 1. เดินทางปลอดภัย ใกล้บ้าน ถึงโรงเรียนได้ทุกวัน 2. ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ดูแลใกล้ชิดอบอุ่นผูกพัน 3. ครูคือตัวแทนรัฐ เกาะติดดูแล ช่วยเหลือชุมชน ทั้งบ้านและวัด 4. เด็กเข้าใจในรากเหง้า วิถีวัฒนธรรม รักบ้านเกิดหวงแหนชุมชน 5. ชุมชนสร้างสรรค์ ดูแลรักษาซึ่งกันและกัน สังคมสงบสุข ชาติมั่นคง
นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสภามนตรีสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวว่า หากยุบหรือควบรวม ปัญหาจะตามมา คือ 1. โอกาสทางการเรียนเด็กลดลง เด็กออกกลางคันจะเพิ่มขึ้น 2. ประชากรในวัยเรียนไม่จบการศึกษาเพิ่มขึ้น 3. ความเสี่ยงเด็กมั่วสุม และยาเสพติดจะเพิ่มขึ้น 4. ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุชีวิต และทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 5. สถาบันครอบครัวล้มเหลว สังคมวุ่นวาย ไม่สงบสุข 6. การอุ้มชูพึ่งพากันทางสังคม บ้าน วัด โรงเรียนจะหายไป 7. ประเทศชาติอาจไม่มั่นคง แนวนโยบายที่จะมีการยุบ ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ในเมือง ชนบท ชายป่า เขา เกาะ ชายขอบ ซึ่งล้วนจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมของเด็กและผู้ปกรองเหล่านั้น รวมถึงความสงบสุขความ มั่นคงของชาติ จึงควรพิเคราะห์ไตร่ตรอง สำหรับข้อเรียกร้องและความต้องการขององค์กรครู ผู้ประกอบวิชาชีพครู คือ 1. ขอให้ยุติการยุบหรือควบรวมโรงเรียนทุกขนาด 2. สร้างพัฒนาสถานศึกษาทุกแห่งเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนอยู่คู่ชุมชน 3. เสริมสร้างศักยภาพโรงเรียนให้มีศักยภาพเข้มแข็งด้วยระบบ ไอ ซี ที 4. ขยายโอกาสให้จัดการศึกษานอกระบบ และตามอัธยาศัยควบคู่กับการศึกษาในระบบ 5. การจัดการศึกษาต้องเป็นรัฐสวัสดิการ ไม่คิดกำไรขาดทุน เป็นการผลิตทรัพยากรทาง ปัญญา ผลิตกำลังคนเพื่อชาติ