ชมภาพ นกแก๊ก สัตว์ป่าหายาก นั่งจับคู่จูจี๊กันคู่รัก หวานจนคนโสดตายสนิท
15 ก.ย. 2565, 14:51
ทำเอาคนโสดเจ็บจุกไปตามๆ กันเพราะขนาดนกยังมีคู่ แถมอวดความหวานกันแบบโลกเป็นสีชมพู เพื่อเพจ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง - Mu Ko Ang Thong National park ได้เผยภาพ นกแก๊ก หรือ นกแกง (Oriental pied hornbill) จัดเป็นนกเงือกที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย และเป็นสัตว์ป่าหายาก
โดยเพจดังกล่าวได้ระบุว่า เมื่อนกมีคู่เปิดโหมด..นกโสดก็ตายสนิท ณ เวลานี้ เป็นช่วงใกล้เข้าสู่ฤดูมรสุมของทะเลฝั่งอ่าวไทย อากาศจึงเย็นสบาย พร้อมกับสายฝนที่โปรยปรายลงมาบางๆ เหมือนบรรยากาศจะเป็นใจ ให้นกแก็ก สัตว์ป่าหายากที่พบเห็นได้ง่าย ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งพากันแยกบินออกจากฝูงมาจับคู่จูจี๊กันตามประสาคนรัก นับจำนวนได้หลายสิบคู่ โดยไม่สนใจนกโสดที่ต้องตกอยู่ในโหมดตายสนิท กับเสียงร้องเจื้อยแจ้วของนกมีคู่และอิริยาบถแนบชิดแอบอิงผลัดกันทำความสะอาดขน จนเป็นที่น่าอิจฉาตาร้อน แอดมินเองก็ทนไม่ไหวต้องรีบจับกล้องมาตามถ่ายเก็บภาพบรรยากาศและวิถีชีวิตสัตว์ป่าตามธรรมชาติมาให้ทุกคนได้รับรู้ร่วมกัน ด้วยความหวังจะช่วยกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน คนรุ่นใหม่ ได้หันมาให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะนกเงือกเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า โดยจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง รวมถึงนกเงือกยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการยึดมั่นในความรัก คือการเลือกจับคู่ผสมพันธุ์กับคู่ตัวเดิมตลอดชีวิต โดยไม่หาคู่ตัวใหม่เมื่อคู่ตัวเดิมตายหรือหายไป ถือเป็นนกที่มีนิสัยรักเดียวใจเดียว จึงได้ถูกหยิบยกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้อันบริสุทธิ์
นกแก๊ก หรือ นกแกง (Oriental pied hornbill) จัดเป็นนกเงือกที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย ถิ่นอาศัย เนื่องจากนกแก๊กสามารถปรับตัวได้เก่งด้วยเหตุนี้ ทำให้สามารถพบนกแก๊กได้ตามผืนป่าหรือแนวชายป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ลักษณะ ลำตัวสีดำ อกตอนล่างและท้องสีขาว ตัวผู้ โหนกตอนหน้ามีแต้มสีดำ ตัวเมีย โหนกเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย ปลายโหนกและปลายปากมีแต้มดำ โคนปากดำและน้ำตาลแดง
พฤติกรรมการเลี้ยงลูก เริ่มปิดปากรังราวๆต้นปีลูกนกออกจากรังช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นนกเงือกที่มีการเลี้ยงลูกแบบพ่อนกเลี้ยงตัวเดียว สามารถเลี้ยงลูกได้ 1-2 ตัว
พฤติกรรมการกินอาหาร นกแก๊ก กินลูกไม้ได้หลายชนิด เช่น ไทร หว้า ยางโอน มะอ้า ตาเสือ และสัตว์ขนาดเล็กบางชนิด เช่น งู กิ้งก่า หอย และปลา เป็นต้น
ฃ
ขอบคุณ (ข้อมูลจาก: มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก : บุญส่ง เลขะกุล, คู่มือดูนก, นกเมืองไทย, 2550)
ภาพถ่าย : ธนากร ศรีจันทร์โฉม