"รัฐบาล" ชี้! เทรนด์ธุรกิจสุขภาพและความงาม แปดเดือนแรกทุนจดทะเบียนเพิ่มพันล้านบาท
3 ต.ค. 2565, 08:36
วันที่ 3 ต.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยแนวโน้มการเติบโตและฟื้นตัวของธุรกิจด้านบริการสุขภาพและความงาม ซึ่งช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่กว่า 353 ราย เพิ่มขึ้นจาก 8 เดือนแรกปี 2564 กว่า 90% ทั้งนี้ มาจากสองปัจจัยหลัก คือ โครงสร้างประชากรที่ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ปีนี้มีจำนวนผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 18.5% และคาดการณ์ว่า ปี 2583 จะมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 20.5 ล้านคน หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ หมายถึงโอกาสทางธุรกิจด้านบริการสุขภาพและความงาม เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุหันมาดูแลตัวเองและต้องการบริการด้านนี้มากขึ้น อีกปัจจัยหนึ่ง คือโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ทั้งการทำงานแบบ Work from Home การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การระมัดระวังเรื่องสุขอนามัย การเลือกซื้อวิตามินและอาหารเสริมต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนมองหาบริการด้านสุขภาพและความงามมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
กรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานตัวเลขยืนยันการเติบโตและฟื้นตัวธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามอย่างรวดเร็วโดย 8 เดือนแรก (มกราคม - สิงหาคม) ปี 2565 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงถึง 353 ราย ทุนจดทะเบียน 969.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 จำนวน 167 ราย หรือ ร้อยละ 90 และทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 659.32 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 212.62 (ปี 2564 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 186 ราย ทุน 310.10 ล้านบาท) เฉพาะเดือนสิงหาคม 2565 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 56 ราย ทุนจดทะเบียน 124.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 38 ราย หรือ ร้อยละ 211.12 และทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 105.10 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 539 (สิงหาคม 2564 จดทะเบียน 18 ราย ทุน 19.50 ล้านบาท)
สำหรับภาพรวม มีธุรกิจบริการประเภทนี้ที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ 31 สิงหาคม 2565 จำนวนทั้งสิ้น 1,621 ราย มูลค่าทุน 7,511.48 ล้านบาทส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 836 ราย (ร้อยละ 51.57) ทุนจดทะเบียนรวม 5,339.31 ล้านบาท (ร้อยละ 71.08) รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 224 ราย (ร้อยละ 13.82) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 180 ราย (ร้อยละ 11.10) ภาคเหนือ 175 ราย (ร้อยละ 10.80) ภาคตะวันออก 101 ราย (ร้อยละ 6.23) ภาคใต้ 78 ราย (ร้อยละ 4.81) และภาคตะวันตก 27 ราย (ร้อยละ 1.67)
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า ยังมีนโยบายการส่งเสริมและการขยายการท่องเที่ยวของรัฐบาล ที่เน้นการท่องเที่ยวในรูปแบบ Medical Tourism (การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์) และ Wellness Tourism (การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ) ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญช่วยขยาการเติบโตธุรกิจบริการสุขภาพและความงาม โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medial Hub) พ.ศ. 2560-2569” สนับสนุนการใช้สมุนไพรไทย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness) ให้กับนักท่องเที่ยวให้ได้รับความผ่อนคลายจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในแต่ละท้องถิ่น อาทิ บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพ ซึ่งยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่การท่องเที่ยวต่างๆ ด้วย
“ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัจจัยโครงสร้างประชากรที่จำนวนผู้สูงอายุมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น และการใช้ชีวิตของคนวัยต่างๆที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ทั้งเรื่องการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร รวมถึงการดูแลตนเองแบบองค์รวม อีกทั้งยังมีนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งประชาชนผู้สนใจธุรกิจด้านนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4376 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th” นางสาวรัชดา กล่าว