กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัพเดตสายพันธุ์โควิด พบไวรัสชื่อใหม่ XBB / BF.7 / BN.1
17 ต.ค. 2565, 15:43
วันนี้ (17 ต.ค.) มีรายงานว่า นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงอัพเดตสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วงวันหยุดยาว 8-14 ตุลาคม 2565 มีสิ่งส่งตรวจเพียง 128 ตัวอย่าง ผลตรวจเป็นเชื้อโอมิครอนทั้งหมด ไม่พบเดลต้า เบต้า หรืออัลฟ่า แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4/BA.5 โดยมี BA.5 มากกว่า และมี BA.2 เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ BA.2.75 ยังไม่พบในสัปดาห์นี้
การติดตามจากองค์การอนามัยโลกยังไม่มีสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลใหม่ ยังเป็นโอมิครอนอยู่ เพียงแต่มีการแตกลูกหลานทำให้มีสายพันธุ์ที่ต้องติดตามข้อมูลใกล้ชิด เช่น BA.5 ที่มีลูกหลานเป็น BF.7 BF.14 หรือ BQ.1 ส่วน XBB ที่ย่อ X มาจาก Cross คือ ลูกผสม เกิดมาจาก BJ.1 มาบวกกับ BA.2.75
วันนี้โอมิครอนกลายพันธุ์ไปมากมายที่น่าตกใจคือ กลายพันธุ์หลายตำแหน่งมาก โดยเฉพาะตำแหน่งสไปรก์ที่จะไปจับกับเซลล์ของมนุษย์ ทำให้ร่างกายจำไม่ได้ว่าเคยมีสายพันธุ์นี้เข้าร่างกายมาแล้ว ก็จะยอมให้เกิดการติดเชื้อขึ้น ดังนั้น ยิ่งกลายพันธุ์มากก็จะมีโอกาสแพร่กระจายไปแย่งพื้นที่ตัวก่อนหน้าก็จะมากขึ้น เช่น กลายพันธุ์มากกว่า 7 ตำแหน่ง อาจจะแพร่เร็วขึ้น ร้อยละ 297 เมื่อเทียบของเดิม ซึ่งมีการจัดระดับการแพร่กระจายไว้ด้วย เพื่อการจับตาดูการเปลี่ยนแปลงไวรัส
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เคยมี BA.2.75 ที่พบมากในอินเดีย ไทยก็ตรวจพบเป็นระยะ วันนี้ผลรายงานผ่านจีเสด (GISIAD) สรุปว่า มี 19 ราย และยังอยู่ในการวิเคราะห์ 11 ราย เมื่อเทียบกับ BA.5 ก็ถือว่ายังไม่มาก
สำหรับ XBB ที่แพร่เชื้อมากในฮ่องกง สธ.ก็ต้องจับตาดูและเฝ้าระวัง ไทยพบ 2 ราย โดยรายแรก เป็นหญิงต่างชาติ อายุ 60 ปี เดินทางมาจากฮ่องกง อาการสำคัญคือ ไอ มาตรวจ ATK ที่โรงพยาบาล (รพ.) เอกชน ให้ผลบวก ขณะนี้หายเป็นปกติแล้ว ซึ่งกรมควบคุมโรคก็จะไปสอบสวนโรคต่อ รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 49 ปี กลับมาจากสิงคโปร์ มีอาการไอ คัดจมูก ไปตรวจที่ รพ.พบเชื้อ อาการไม่มาก ขณะนี้หายแล้ว ฉะนั้น ต้องเรียนว่าแม้จะมีพันธุ์ใหม่ หรือแพร่เร็ว ก็อย่าเพิ่งตกใจ หากยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าอาการรุนแรง ใส่ท่อหายใจ หรือเสียชีวิต ส่วนที่สิงคโปร์ที่เจอผู้ติดเชื้อใหม่มาก ก็ยืนยันว่า ผู้ป่วยหนักเพิ่มตามสัดส่วนการติดเชื้อที่มากขึ้น นั่นหมายความว่า ไวรัสไม่รุนแรงขึ้น แต่ติดเชื้อมากขึ้นทำให้สัดส่วนป่วยหนักมากขึ้น
“ส่วน BF.7 เป็นลูกหลาน BA.5.2.1 ที่พบมากในอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ทั่วโลกพบราว 13,000 ราย เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์แล้วเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วเมื่อเทียบกับ BA.5 ถึง ร้อยละ 17.95 จึงเป็นอีกตัวที่ต้องจับตาดูว่าจะเข้ามาแทนที่ BA.5 ได้ โดยขณะนี้เราพบในไทย 2 ราย รายแรก เป็นชายต่างชาติ อายุ 16 ปี อยู่ในกรุงเทพมหานคร เราได้ส่งข้อมูลเข้าจีเสดตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2565 แต่เพิ่งได้รับการจัดเป็น BF.7 รายที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 62 ปี บุคลากรทางการแพทย์ใน รพ. แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าติดเชื้อจาก รพ.หรือข้างนอก โดยทั้ง 2 ราย ไม่มีอาการรุนแรง แม้จะเป็นคนอายุมากกว่า 60 ปี ฉะนั้น ไม่ต้องตกใจเพราะอาการไม่รุนแรง” นพ.ศุภกิจกล่าว
นอกจากนั้น BN.1 ซึ่งมาจาก BA.2.75 ทั่วโลกพบ 437 ราย ไทยพบ 3 ราย และยังอยู่ในการวิเคราะห์ของจีเสดอีก 7 ราย จึงขอให้มั่นใจว่าระบบของเราไม่มีหลุด ตรวจพบอย่างแน่นอน ขณะที่ BQ.1.1 ทั่วโลกพบ 1,284 ราย ยังไม่พบในไทย แต่ที่น่าสนใจคือ ตัวนี้เพิ่มจำนวนเร็ว อาจเป็นปัญหาในอนาคต อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่า BQ.1.1 และ XBB จะหลบภูมิคุ้มกันได้มาก จึงต้องติดตามจะมีคนติดเชื้อมากน้อยอย่างไร
“ทั้งนี้ สายพันธุ์โอมิครอนไม่มีความรุนแรง จึงขอประชาชนอย่าตระหนก อาจติดเชื้อมากขึ้น ฉะนั้น หากใครติดเชื้อแล้วมีอาการ ก็อาจให้ช่วยตรวจเชื้อ เพื่อระวังตัวเองไม่ให้แพร่เชื้อ เพราะตามหลักการ ถ้าแพร่เชื้อมาก โอกาสกลายพันธุ์ก็สูงขึ้น” นพ.ศุภกิจกล่าว และว่า มาตรการสวมหน้ากากอนามัยยังใช้ได้ โดยเฉพาะการเข้าไปในชุมชน พบปะคนอื่นอย่างใกล้ชิด ล้างมือให้สะอาด หากมีอาการก็ตรวจหาเชื้อ ส่วนกลุ่ม 608 ก็ขอให้ไปกระตุ้นวัคซีนโควิด-19 ด้วย
ทางด้าน นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน ต่อด้วยฤดูหนาว อาจทำให้ผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดมากขึ้น จึงแนะนำให้ตรวจ ATK เบื้องต้นก่อนพบแพทย์ เพราะช่วงนี้มีไข้หวัดอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ตรวจ RT-PCR ลดลง แต่ระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ไม่ได้ลดความเข้มข้นลง จึงขอความร่วมมือ รพ.ส่งตัวอย่างเชื้อ กลุ่มอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ผู้ที่มาจากต่างประเทศแล้วป่วย กลุ่มคลัสเตอร์ กลุ่มที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มที่รับวัคซีนเข็มสุดท้ายยังไม่เกิน 3 เดือน แต่มีอาการป่วยจากโควิด-19 และกลุ่มบุคลากรการแพทย์ มายังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ
ขอบคุณ มติชนออนไลน์