นักศึกษา ม.มหิดล กาญจน์ นำเสนอโครงงานต่อยอดกิจกรรมชุมชน ร่วมพัฒนาชุมชน โดยใช้หลักการศึกษาแบบสหวิทยาการ
13 ธ.ค. 2565, 18:18
วันนี้ 13 ธ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า อาจารย์ ดร.จุฑามาศ สุคนธปฏิภาค อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ ได้เปิดเผยว่าที่ผ่านมา ผู้นำชุมชนบ้านไตรรัตน์ นำโดย ผู้ใหญ่บ้าน นายติณณภพ ไตรรัตนชัยกูล ผู้ใหญ่บ้าน พร้อม ผู้ช่วย ส.อบต. อสม. คณะกรรมการหมู่บ้านหมู่ ที่ 9 ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอโครงงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตกาญจนบุรี เพื่อต่อยอดพัฒนาให้กับชุมชน จำนวน 10 โครงงาน ประกอบด้วย
1. ตลาดชุมชนบ้านไตรรัตน์ 2. น้ำหมักกลอย 3. สบู่ไตรรัตน์ 4. บรรจุภัณฑ์ชาฝาง 5. สูตรชาฝาง 6. น้ำสมุนไพร welcome drink 7. หัวไชเท้าดอง 8. บรรจุภัณฑ์ขนมเทียนแก้ว 9. บรรจุภัณฑ์กล้วยฉาบ และ 10. การเต้นบาสโลบ
ซึ่งเป็นกิจกรรมในรายวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรายวิชานี้ เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ทุกหลักสูตร ได้มาเรียนรู้และทำงานเพื่อสังคมร่วมกัน และมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจด้านสหวิทยาการเชื่อมโยงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำเสนอแนวทางในการพัฒนาชุมชนหรือสังคมให้เกิดความยั่งยืน โดยมุ่งประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม มีทัศนคติที่เห็นคุณค่าของตนเองต่อการมีส่วนร่วมทางสังคม (Social Engagement) โดยอาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้มีการลงพื้นที่ พบปะพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและหาแนวทางพัฒนา ร่วมกับ ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งผู้สูงอายุ ในหมู่บ้านไตรรัตน์ หมู่ที่ 9 ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งโครงงานดังกล่าว จะมีส่วนช่วยพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับ ชุมชนบ้านไตรรัตน์ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง และวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารบ้านไตรรัตน์อย่างยั่งยืน
โดย นายติณณภพ ไตรรัตนชัยกูล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ที่ 9 ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้รับคำชื่นชม จากชาวบ้านในหมู่บ้าน ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรง มุ่งมั่นพัฒนาชุมชนอย่างไม่หยุดยั้ง ได้ให้ความเห็น ถึงกิจกรรม ดังกล่าวว่า “หมู่บ้านไตรรัตน์ ได้ดำเนินการตลาดชุมชนบ้านไตรรัตน์ และกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยการรวมพลังชุมชนของหมู่บ้าน ที่มีคณาจารย์และนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นที่ปรึกษา และการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ อย่างต่อเนื่อง มีการนำภูมิปัญญาชาวบ้านและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับวิสาหกิจชุมชน รวมทั้ง อาจารย์และนักศึกษา ยังได้มีการจัดกิจกรรม เสริมสร้างสุขภาวะทางกายใจ ให้กับผู้สูงอายุของชุมชน ผู้สูงอายุ ไม่เงียบเหงา
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นผู้ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะและแนวคิด ออกแบบ วางแผนในการร่วมจัดกิจกรรมในชุมชน การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของดีชุมชน ซึ่งโครงงานดังกล่าวจะทำให้ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ คุณภาพชีวิตของชาวบ้านชุมชน มีการพัฒนาดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์กับหมู่บ้านเป็นอย่างมาก ชาวบ้านมีรายได้จากการขายสินค้าในตลาดชุมชน ทำให้เกิดรายได้ เข้ามาในชุมชน ซึ่งในปัจจุบันความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับหมู่บ้าน มีการสานสัมพันธ์อันดี เกิดพลังชุมชนที่เข้มแข็ง มีความสามัคคี ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ นักศึกษา และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นอย่างยิ่ง ”