เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นายกฯ เปิดท่าเรือราชินี-บางโพ ท่าเรืออัจฉริยะเชื่อมระบบขนส่งล้อ-ราง-เรือ มอบเป็นของขวัญปีใหม่


23 ธ.ค. 2565, 16:30



นายกฯ เปิดท่าเรือราชินี-บางโพ ท่าเรืออัจฉริยะเชื่อมระบบขนส่งล้อ-ราง-เรือ มอบเป็นของขวัญปีใหม่




วันนี้ ( 23 ธ.ค.65 ) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (23 ธ.ค. 65) เวลา 13.30 น. ณ บริเวณท่าเรือราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือราชินีและท่าเรือบางโพ โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหาร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน  ภาคประชาชน ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน
 
เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางถึงท่าเรือราชินี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการท่าเรืออัจฉริยะ เชื่อมต่อทุกการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยสู่อนาคต โดยท่าเรือราชินี เป็นหนึ่งในท่าเรือที่ได้ยกระดับให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาระบบการบริการให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น และเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่เมืองและแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งล้อ ราง เรือ ที่สมบูรณ์แบบ โดยนายกรัฐมนตรีได้เข้าชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 ก่อนโดยสารเรือไฟฟ้าจากท่าเรือราชินีไปยังท่าเรือบางโพ เขตบางซื่อ เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือราชินีและท่าเรือบางโพ โดยระหว่างการโดยสารเรือไฟฟ้า นายกรัฐมนตรีกล่าวฝากให้ทุกฝ่ายและทุกคนช่วยกันสร้างสังคมและครอบครัวที่อบอุ่น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตอย่างยั่งยืน
 
จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางถึงท่าเรือบางโพ กล่าวแสดงความยินดีที่ได้เป็นประธานเปิดท่าเรือราชินี และท่าเรือบางโพ อย่างเป็นทางการ สอดรับตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ตามแผนพัฒนาการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา ยกระดับมาตรฐานการให้บริการให้มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดในการเดินทาง ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น (ล้อ-ราง-เรือ) ได้อย่างไร้รอยต่อ ลดปัญหาการคับคั่งของการจราจรทางบก ลดระยะเวลาในการเดินทาง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์การเดินทางของประเทศ
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมุ่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะต่อจากนี้ จะมุ่งพัฒนาคุณภาพเพื่อการใช้งานให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ต้องสะดวกสบาย ปลอดภัย และรักษาสิ่งแวดล้อม เรือที่ใช้ในการสัญจรเป็นเรือพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตและประกอบในประเทศไทย ที่นอกจากจะเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมและห่วงโซ่การผลิตในประเทศแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เป็นการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและบริเวณโดยรอบ ให้สามารถพัฒนาเป็นเขตการค้าและต้อนรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้ง นายกรัฐมนตรีชื่นชมการดำเนินการออกแบบและสถาปัตยกรรมที่ยังคงรักษาความเป็นไทยควบคู่กับการพัฒนาให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ที่มาใช้บริการและนักท่องเที่ยวได้เห็นความสวยงามริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ  
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นประธานเปิดท่าเรืออัจฉริยะหลายแห่ง ซึ่งทุกแห่งล้วนเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายคมนาคมทั้ง ล้อ ราง เรือ และโครงข่ายการเดินทางระดับประเทศ ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาล ที่มุ่งผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาความเจริญและการกระจายโอกาสไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยปัจจุบันระบบคมนาคมขนส่งของประเทศมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปอย่างมากจนใกล้เคียงกับต่างประเทศ
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า และทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะทุกแห่งให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่สามารถเชื่อมโยงการเดินทางสู่ระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ พร้อมกันนี้ นายกฯ เชิญชวนประชาชนได้ลองมาเยี่ยมชมท่าเรือใหม่ ชมวิวทิวทัศน์ริมสองฝังแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ทดลองสัญจร และต้องการส่งต่อความประทับใจนี้มอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้แก่ประชาชนคนไทย พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยสู่อนาคต และยกระดับการขนส่งทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป
 
สำหรับโครงการพัฒนาและปรับปรุงท่าเรือราชินี และท่าเรือบางโพ เป็นนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่จะพัฒนาการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ให้มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดในการเดินทาง ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น (ล้อ-ราง-เรือ) ได้อย่างไร้รอยต่อโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MTR บริเวณสถานีสนามไชย การปรับปรุงพัฒนาท่าเรือราชินีมีแนวคิดการออกแบบเน้นความสวยงามมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ให้เป็นท่าเรือที่สวยที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นแลนมาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร มีความสะดวกและปลอดภัยทางน้ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ให้พร้อมบริการ และมีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) พัฒนายกระดับท่าเรือให้เป็นสถานีเรือ ทั้งในส่วนของท่าเรือ ตัวเรือ ตลอดจนพัฒนาระบบการให้บริการรองรับชีวิตวิถีใหม่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาใช้ในการควบคุม และบริหารจัดการบนเรือและท่าเรือ ตามแผนพัฒนาท่าเรือสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 29 แห่ง ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เปิดใช้งานแล้ว จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือสาทร และท่าเรือพายัพ ปัจจุบันแล้วเสร็จเพิ่มในปี 2565 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือราชินี ท่าเรือบางโพ และที่จะแล้วเสร็จเพิ่มในปี 2566 อีกจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือพระราม 7 และท่าเรือเกียกกาย ซึ่งการเปิดท่าเรือทั้งสองแห่งจะทำให้การบริการขนส่งทางน้ำที่ปลอดภัย สะดวก สบาย ให้แก่ผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนแบบไร้รอยต่อ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน



 







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.