"สกลนคร" จัดสัมมนา กระบวนการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณหน่วยงานของรัฐและการมีส่วนร่วมของประชาชน
26 ก.ย. 2562, 14:23
วันที่ 26 กันยายน 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสกลนคร นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่องศึกษากระบวนการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณหน่วยงานของรัฐและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณสภาผู้แทนราษฎรจัดขึ้น โดยมีนายนิยม เวชกามา เลขานุการคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดสัมมนา ซึ่งมีส่วนราชการ และนายอำเภอ พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนจาก 5 อำเภอของจังหวัดสกลนคร ได้แก่ อ.กุสุมาลย์ อ.โพนนาแก้ว อ.ศรีสุพรรณ อ.เต่างอย และ อ.ภูพาน จำนวนกว่า 250 คน เข้าร่วม ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักในความสำคัญของการจัดทำ และติดตามตรวจสอบการบริหารงบประมาณ และเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลงบประมาณของประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยในการป้องกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมไว้ และเป็นเสียงสะท้อนกลับไปสู่รัฐบาลในการกำหนดนโยบายสำคัญๆ ของประเทศต่อไป
นายไชยา พรหมา ให้สัมภาษณ์ว่า การที่นำคณะกรรมาธิการมาครั้งนี้ วัตถุประสงค์คือมาดูงานการบริหารงบประมาณ ใน 2562-2563 รวมถึงปี 2564 ด้วย ฉะนั้นในการจัดทำงบประมาณ เรามาระดมความคิดเห็น ได้แนะนำให้แต่ละจังหวัดร่วมบูรณาการขอความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ขอฝากไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และการใช้จ่ายเงินนั้นตรงเป้าหมาย สิ่งสำคัญคืองบประมาณที่เป็นเงินภาษีอากรของประชนเราจะต้องใช้จ่ายอย่างโปร่งใสประชาชนสามารถตรวจสอบได้ นี่คือภารกิจที่คณะกรรมการกำลังติดตามอยู่ เป็นที่น่ายินดีว่าทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขาไม่มีเวทีสะท้อนปัญหาให้ฝ่ายการเมืองรับทราบ ปัญหาที่ว่าก็คือปัญหาที่พวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนการแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น ขณะนี้มีผู้ร้องเรียนเข้าไปมามาก เช่น งบภัยแล้งที่รัฐบาลอนุมัติงบจังหวัดละ 200 ล้าน ก็คือระยะเวลาของการเบิกจ่ายจะต้องเบิกจ่าย ภายในวันที่ 30 กันยายน นี้ ทำให้เป็นอุปสรรคในการจัดซื้อจัดจ้าง ทำสัญญาจ้าง จึงเป็นช่องว่างของการใช้จ่ายเงินไม่ตรงวัตถุประสงค์
อย่างไรก็ตาม นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร เขต 2 ในฐานะ เลขานุการคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสกลนครอย่างถาวร ว่า น้ำที่ท่วมจังหวัดสกลนครนั้น เป็นน้ำที่มาจากลำน้ำพุงไหลลงสู่หนองหาร โดยหนองหารเป็นแอ่งกระทะ แล้วไหลลงสู่ลำน้ำก่ำและลำน้ำโขงต่อไป ซึ่งระยะทางจากต้นน้ำลำน้ำพุงไปถึงน้ำโขง ประมาณ 99 กิโลเมตร ประกอบกับมีความคดเคี้ยวการไหลของน้ำจึงช้าลง ขณะนี้ ตนได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาไปยังกรมชลประทานแล้ว โดยจะต้องหาวิธีเปลี่ยนทิศทางน้ำจากการที่ตามปกติจะไหลลงหนองหาร ก็เปลี่ยนทิศทางน้ำ ที่ ต.เหล่าโพนค้อ อ.โคกศรีสุพรรณ ให้ไปลงน้ำก่ำโดยตรง เพื่อที่จะไหลลงสู่น้ำโขงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านหนองหารเหมือนในอดีต ระยะทางที่น้ำจะไหลลงสู่น้ำโขงก็สั้นลง วิธีนี้จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างถาวร ตนจะติดตามกำกับว่าขณะนี้โครงการไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว